หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2558

สรุปพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ไทย

สรุป

            จากที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นจะเห็นว่า ดินแดนในประเทศมีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมยาวนานตั้งแต่สมัยหินเก่า สมัยหินกลาง สมัยหินใหม่และสมัยโลหะของยุคก่อนประวัติศาสตร์ซึ่งมีอายุสมัยอยู่ในช่วงตั้งแต่ประมาณ ๓,๐๐๐,๐๐๐-๕๐๐,๐๐๐ ปีมาแล้ว จนถึงประมาณพุทธศตวรรษที่ ๓-๕ อันเป็นช่วงที่มีหลักฐานเอกสารกล่าวถึงการเดินทางเข้ามาเผยแพร่ศาสนาพุทธในดินแดนประเทศไทย

            ในระยะต่อมาดินแดนในประเทศไทยมีพัฒนาการอยู่ในสมัยกึ่งก่อนประวัติศาสตร์และสมัยประวัติศาสตร์ยุคเริ่มแรก อันมีหลักฐานแสดงให้เห็นถึงการได้รับอิทธิพลความเชื่อทางศาสนาจากอินเดียเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่๗–๑๕ จากนั้นจึงเริ่มมีหลักฐานพัฒนาการของชนชาติไทยเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่๑๖–๑๗ เป็นต้นมา ก่อนที่จะปรากฏหลักฐานการก่อตัวของชุมชนที่มีชาวไทยเป็นผู้ปกครองสืบเนื่องมาตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่๑๘ จนถึงปัจจุบัน

            เมื่อประมาณ ๒๐ ปีเศษมาแล้ว ตำราทางประวัติศาสตร์มักอธิบายว่า ก่อนสมัยอารยธรรมยุคเริ่มแรกซึ่งเป็นยุคก่อนที่จะมีการติดต่อกับอินเดียและจีน ดินแดนในประเทศไทยยังไม่มีความเจริญทางศิลปวิทยาการและเทคโนโลยี แต่หลักฐานโบราณวัตถุสำริดจากการขุดค้นทางโบราณคดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางตอนล่างตั้งแต่กลางทศวรรษ ๒๕๑๐ เป็นต้นมา บ่งชี้ให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านการหลอมทองแดงและการผลิตโลหะสำริด รวมถึงการแพร่กระจายของเครื่องมือเหล็กและอื่นๆในดินแดนประเทศไทยตั้งแต่ประมาณ ๓,๗๐๐-๑,๙๐๐ ปีมาแล้ว ทำให้นักวิชาการปรับเปลี่ยนมโนทัศน์ในการอธิบายพัฒนาการทางวัฒนธรรมในดินแดนประเทศไทยว่า ความเจริญทางวัฒนธรรมในภูมิภาคนี้เป็นผลมาจากการบ่มเพาะสร้างสรรค์และถ่ายทอดทางภูมิปัญญาของท้องถิ่น ซึ่งเกิดขึ้นจากการประสบการณ์และการเรียนรู้เพื่อการแก้ปัญหาในชีวิตของคนพื้นเมืองเป็นทุนดั้งเดิมทางวัฒนธรรม ก่อนที่จะมีการติดต่อกับชาวต่างชาติเป็นเวลานานแล้ว เมื่อผู้คนมีปฏิสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับคนต่างถิ่น การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมจึงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ท่ามกลางความเปิดกว้างทางสังคมที่มีความอดกลั้นต่อความหลากหลายและความแตกต่างทางวัฒนธรรมจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

            การศึกษาวิวัฒนาการของประเทศไทยตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ถึงสมัยธนบุรี เพื่อศึกษารากฐานความเป็นมาของอารยธรรมไทย จึงมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้เกิดความเข้าใจและยอมรับความเป็นไปต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างมีสติ รวมทั้งมีความชื่นชมและภาคภูมิใจต่อการดำเนินชีวิตอย่างกลมกลืนในปัจจุบัน กระนั้นก็ตาม เนื้อหาที่ได้กล่าวมาแล้วเป็นเพียงองค์ประกอบเล็กๆ ที่พยายามจุดประกายการเรียนรู้เรื่องไทยศึกษาทั้งเชิงลึกและกว้าง ซึ่งผู้สนใจจะสามารถค้นคว้าในระดับสูงได้จากบางส่วนของ