หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ร่องรอยของรัฐระหว่างพุทธศตวรรษที่๖–๑๘

ร่องรอยของรัฐระหว่างพุทธศตวรรษที่๖–๑๘

            การศึกษาร่องรอยอารยธรรมสมัยเริ่มแรกในดินแดนประเทศไทยจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลจากหลักฐานจดหมายเหตุจีนซึ่งบันทึกเรื่องราวของรัฐโบราณต่างๆ เพื่อชี้ให้เห็นถึงพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของดินแดนในประเทศไทยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่๖เป็นต้นมา[4]

๑.๓.๑ หลักฐานเอกสารโบราณของจีน
            จดหมายเหตุราชวงศ์ฮั่นระบุว่าระหว่าง พ.ศ.๕๔๓–๕๔๘ คณะทูตจีนได้เดินทางจากกวางตุ้ง ผ่านเวียดนามและคาบสมุทรมลายู มุ่งสู่อ่าวไทยแล้วขึ้นบกที่คอคอดกระก่อนเดินทางบกต่อไปยังพม่า ผ่านเมืองต่างๆ อาทิ แคว้นตูหยวน แคว้นหลูม่อและแคว้นเฉินหลี นักวิชาการเชื่อว่าแคว้นเหล่านี้อาจอยู่ในภาคใต้ของประเทศไทย[5]

            ในพุทธศตวรรษที่๘ คัง-ไถหรือคัง-ไท่(K’ang-Tai)และจู-ยิงหรือจู-อิ้ง(Chu-Ying)ระบุว่า อาณาจักรฟูนัน(Fou-nan)[6]หรือพนมเป็นอาณาจักรสำคัญซึ่งรุ่งเรืองและมีอำนาจมาก อีกทั้งยังมีเมืองขึ้นจำนวนไม่น้อยในแถบชายทะเลริมฝั่งอ่าวไทยโดยรอบตั้งแต่จันทบุรีในภาคตะวันออก ตลอดถึงลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและคาบสมุทรมลายู เมืองขึ้นเหล่านี้มีชื่อเรียกเป็นภาษาจีนว่า แคว้นเตียน-ซุนหรือตุน-ซุน แคว้นชู-ตู-กุนหรือตู-กุน แคว้นเฉียว-ชิหรือชู-ลี แคว้นปิ-ซุง แคว้นพัน-พัน แคว้นทัน-ทัน แคว้นลัง-ยะ-สิว แคว้นชิ-ถูหรือเซียะ-โท้

            นักวิชาการเชื่อว่าแคว้นเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ประเทศไทย การกำหนดตำแหน่งของบางแคว้นยังไม่สามารถทำได้ชัดเจน[7] แต่แคว้นโบราณบางแคว้นก็สามารถระบุที่ตั้งของแคว้น อาทิ แคว้นพัน-พัน แคว้นลัง-ยะ-สิวและแคว้นชิ-ถู ซึ่งนักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์พยายามเสนอแนวคิดในการที่จะระบุที่ตั้งทางภูมิศาสตร์จากการสำรวจศึกษาหลักฐานประวัติศาสตร์และโบราณคดีประเภทจารึก โบราณวัตถุและโบราณสถานที่เหลือในปัจจุบัน

            พระพุทธทาสภิกขุ(พระครูอินทปัญญาจารย์)ในงานเขียนชื่อ “แนวสังเขปโบราณคดีอ่าวบ้านดอน” เชื่อว่า แคว้นพัน-พันตั้งอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำตาปี มีศูนย์กลางอยู่ที่อ่าวบ้านดอน ปัจจุบันคือ ตำบลเวียงสระ อำเภอนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี[8] แต่พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ และสุจิตต์ วงษ์เทศ เชื่อว่า แคว้นพัน-พันตั้งอยู่ที่เมืองศรีมโหสถ อำเภอศรีมโหสถ[9]จังหวัดปราจีนบุรี

            พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ เสนอว่า “ลัง-ยะ-สิว” อาจตรงกับภาษาพื้นเมืองว่า “นครชัยศรี” และสันนิษฐานว่าเมืองนี้ตั้งอยู่ทางฟากตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีเมืองโบราณอู่ทอง อ.อู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรีเป็นศูนย์กลางสำคัญในระยะพุทธศตวรรษที่๑๒–๑๔ ต่อมาประมาณพุทธศตวรรษที่๑๕–๑๖ ศูนย์กลางของลัง-ยะ-สิวได้ย้ายไปอยู่ที่เมืองนครชัยศรี ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขต อ.เมือง จังหวัดนครปฐม ส่วนแคว้นชิ-ถูนั้นน่าะอยู่ในเขตจังหวัดสงขลาและพัทลุง จากการพบหลักฐานเงินตราโรมันอายุร่วมสมัยกับเอกสารของจีนที่กล่าวถึงพื้นที่บริเวณนี้[10]

            ผู้ช่วยศาสตราจารย์มยุรี วีระประเสริฐ ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของพิเศษ เจียจันทร์พงษ์ และเสนอว่าที่ตั้งของลัง-ยะ-สิวน่าจะอยู่ทางตอนใต้ของจังหวัดปัตตานี โดยระยะหลังแคว้นลัง-ยะ-สิวถูกเรียกว่า “ลัง-เจียง-ซู” หรือ“ลังกาสุกะ”[11] สอดคล้องกับความเห็นของต้วน ลี เซิง ที่เสนอว่าชื่อเมืองต่างๆ อาทิ เมืองจิ้น-หลิน หรือเมืองฉิน-เฉินในเอกสารของคัง-ไท่และจู-อิ้ง[12] ตั้งอยู่ที่จังหวัดราชบุรี ส่วนเมืองเตียน-ซุนหรือตุน-ซุน เป็นเมืองท่าสำคัญตั้งในลุ่มแม่น้ำตาปี จ.สุราษฎร์ธานี และสนับสนุนแนวคิดที่ว่าเมืองชิ-ถู หรือเซียะ-โท้-ก๊กในจดหมายเหตุราชวงศ์สุยและราชวงศ์ถังระหว่างพุทธศตวรรษที่๑๑–๑๔ นั้น ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดสงขลา[13]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น