หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2558

๑.๔.๒ พัฒนาการทางประวัติศาสตร์สมัยธนบุรี

๑.๔.๒ พัฒนาการทางประวัติศาสตร์สมัยธนบุรี 

            ภายหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาในปีพ.ศ.๒๓๑๐ ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การเมืองและการปกครองของไทยได้ย้ายลงมาตั้งที่เมืองธนบุรีศรีมหาสมุทรหรือเมืองบางกอกภายใต้การนำของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี(สมเด็จพระบรมราชาที่ ๔ พระเจ้าตากสิน พ.ศ.๒๓๑๐–๒๓๒๕)
หลักฐานที่ใช้ในการศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์สมัยธนบุรี ประกอบด้วยพระราชพงศาวดารฉบับต่างๆ อาทิ พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี(ฉบับพันจันทนุมาศ) จดหมายเหตุความทรงจำกรมหลวงนรินทรเทวี พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเรื่องปฐมวงศ์ จดหมายเหตุสมัยราชวงศ์ชิง(ชิงสือลู่) ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ พงศาวดารโยนก บันทึกของบาทหลวงเดอ โลเนชาวฝรั่งเศส และหนังสืออภินิหารบรรพบุรุษหรือโครงกระดูกในตู้ เป็นต้น ส่วนงานวิจัยประวัติศาสตร์สมัยธนบรีที่ได้รับการยกย่องมากที่สุดคือ หนังสือเรื่อง การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีศาสตราจารย์ ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๙ ซึ่งมุ่งอธิบายพัฒนาการทางการเมืองเป็นหลัก แต่ก็ได้กล่าวถึงสภาพเรื่องราวทางเศรษฐกิจและสังคมในสมัยนี้ด้วย

            กรุงธนบุรีมีบทบาทต่อประวัติศาสตร์ไทยในฐานะราชธานีเป็นระยะเวลาเพียง ๑๕ ปี ความสำคัญดังกล่าวก็สิ้นสุดลง หลักฐานเอกสารระบุว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมี “พระสติวิปลาส” ขุนนางและอาณาประชาราษฎร์จึงพร้อมใจกันอัญเชิญสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก นายทหารคนสำคัญซึ่งได้รับการยอมรับจากขุนนางข้าราชการและราษฎร ขึ้นปราบดาภิเษกเสวยราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกในปีพ.ศ.๒๓๒๕

            การศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สมัยธนบุรีอันเป็นจุดเปลี่ยนผ่านทางการเมือง การปกครอง สังคมและวัฒนธรรมช่วงสั้นๆของสังคมไทยในอดีต จะช่วยให้สามารถทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์ของการสืบทอดเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์ สังคมและศิลปวัฒนธรรมสมัย รัตนโกสินทร์ได้มากยิ่งขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น