หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2558

๖) แคว้นสุโขทัย

๖) แคว้นสุโขทัย

            ตำราประวัติศาสตร์ก่อนระยะ ๑๐ ปีเศษที่ผ่านมามักระบุว่า อาณาจักรอ้ายลาวและอาณาจักรน่านเจ้าทางตอนใต้ของประเทศจีนเป็นรัฐที่ปกครองโดยคนไทยเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่๘-๑๕ ข้อเสนอเกี่ยวกับทฤษฎีการอพยพของชนชาติไทยจึงเรื่องราวของอาณาจักรอ้ายลาวและน่านเจ้าปรากฏอยู่ด้วยเสมอ อาทิ งานค้นคว้าของ W.A.R.Wood เรื่อง “A History of Siam” [26] งานค้นคว้าของ M. Carthew เรื่อง “The History of the Thai in Yunan” ตีพิมพ์ในวารสารสยามสมาคมฉบับพิเศษ

            งานค้นคว้าของเดวิด เค. วายแอตต์ ก็กล่าวถึงเรื่องราวอาณาจักรน่านเจ้าเช่นกัน แต่เขาก็ได้ระบุว่า พระนามของผู้ปกครองแห่งอาณาจักรน่านเจ้า อาทิ พระเจ้าพี-ล่อ-โก๊ะ พระเจ้าโก๊ะ-ล่อ-ฝง พระเจ้าฝง-เจีย-อี้ พระเจ้าอี้-มู-ฉุน คล้ายคลึงกับธรรมเนียมการตั้งชื่อของชนเผ่าโล-โล หรือธิเบต-พม่า ไม่ใช่ธรรมเนียมของคนไทย[27]

            การดำเนินงานทางโบราณคดีทำให้มีการค้นพบหลักฐานประวัติศาสตร์และโบราณคดีในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยจำนวนมาก แต่ศิลาจารึกหลักที่๑(ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง)ก็เป็นหลักฐานสำคัญที่ทำให้สามารถอธิบายเรื่องราวประวัติศาสตร์สมัยสุโขทัยได้ชัดเจน

            ก.การก่อตัวของแคว้นสุโขทัย
            แคว้นสุโขทัยตั้งอยู่ในแถบลุ่มแม่น้ำยม-ปิง-น่านและป่าสัก ครอบคลุมพื้นที่บริเวณภาคเหนือตอนล่าง ศูนย์กลางของแคว้นสุโขทัยอยู่ที่บริเวณลุ่มแม่น้ำยม หลักฐานศิลปะโบราณสถานและโบราณวัตถุมากมายบ่งชี้ให้เห็นความเป็นมาและความรุ่งเรืองของแคว้นแห่งนี้ แม้แต่เอกสารบางชิ้น อาทิ ตำนานพระพุทธสิหิงค์และศิลาจารึกจำนวนมากก็กล่าวถึงเรื่องราวของแคว้นสุโขทัย แต่ก็ไม่มีหลักฐานชิ้นใดให้รายละเอียดได้ครอบคลุมทุกด้าน

            แคว้นสุโขทัย เป็นรัฐสำคัญที่มีหลักฐานชัดเจนว่า ชนชั้นผู้ปกครองเป็นคนเชื้อสายไท/ ไต(Tai/ Dai) ในระยะแรกแคว้นสุโขทัยอาจก่อตัวขึ้นร่วมสมัยกับรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่๗แห่งอาณาจักรกัมพูชา(พ.ศ.๑๗๔๒–๑๗๖๓)เป็นอย่างน้อยภายใต้การนำของราชวงศ์ศรีนาวนำถม[28] ศิลาจารึกหลักที่๒ ระบุว่าพ่อขุนศรีนาวนำถม “ปู่”ของพระศรีศรัทธราราชจุฬามณีผู้สร้างจารึกนี้ ทรงมีอำนาจเหนือเมืองสุโขทัยและเมืองศรีสัชนาลัย กล่าวคือ “ ปู่ชื่อพระยาศรีนาวนำถุม…เป็นพ่อ…เสวยราชในนครสองอัน อันหนึ่งชื่อนครสุโขทัย อันหนึ่งชื่อนครศรีสัชนาลัย…”[29]

            หลักฐานจารึกปราสาทพระขรรค์ของพระเจ้าชัยวรมันที่๗[30] กล่าวถึงการสร้างพระราชไมตรีระหว่างกัมพูชากับแคว้นสุโขทัยในรัชสมัยพ่อขุนศรีนาวนำถมขณะที่ทรงทำศึกกับอาณาจักรจามปาทางทิศตะวันออกว่า “…สำหรับผู้ที่พระองค์พระราชทานความมั่งคั่งบริบูรณ์แล้ว ก็ได้พระราชทานพระธิดาด้วย…” พ่อขุนผาเมืองโอรสของพ่อขุนศรีนาวนำถมคือผู้ที่ได้รับพระราชทานพระธิดา พร้อมด้วยพระแสงขรรค์ชัยศรีและพระนาม “ศรีอินทรบดินทราทิตย์” [31]

            เฉลิม ยงบุญเกิด ผู้แปลบันทึกการเดินทางของโจวต้ากวนว่าด้วยขนบธรรมเนียมและประเพณีของเจินละ(กัมพูชา)ในพุทธศตวรรษที่๑๘อธิบายว่า แคว้นสุโขทัยมีชื่อเรียกในภาษาจีนว่า “เสียม” หรือ “เสียน”[32] ตรงกับข้อเสนอของศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร ซึ่งอ้างหลักฐานจากจดหมายเหตุจีนชื่อ หยวนสื่อ(หนังสือประวัติศาสตร์ราชวงศ์หยวน ฉบับหอหลวงบรรพว่าด้วยประเทศเซียน) และหมิงสือลู่(หนังสือประวัติศาสตร์รายรัชกาลแห่งราชวงศ์หมิง) รวมถึงสารานุกรมท้องถิ่นและจดหมายเหตุเอกชนด้วย เช่น หนังสือหนานไห่จื้อ เป็นต้น[33]

            เดวิด เค. วายแอตต์ ( David K. Wyatt) ชี้ว่า แคว้นสุโขทัยเป็นอีกแคว้นหนึ่งในหลายแคว้นของชาวสยาม มีชื่อเรียกในหลักฐานเอกสารของจีนว่า “เสียม(Siem)”[34] ขณะที่อาคม พัฒิยะและนิธิ เอียวศรีวงศ์เชื่อว่า “เสียน” ในหลักฐานบันทึกของวังต้ายวนหมายถึงแคว้นสุพรรณภูมิ วังต้ายวนบันทึกว่าในปี พ.ศ.๑๘๙๒ “เสียนยอมอ่อนน้อมต่อหลอฮู่(ละโว้) ”[35]

            หลังจากแคว้นสุโขทัยตกอยู่ภายใต้การยึดครองของขอมสบาดโขลญลำพงระยะหนึ่ง พ่อขุนบางกลางหาวเจ้าเมืองบางยาง และพ่อขุนผาเมืองเจ้าเมืองราดผู้ทรงสืบเชื้อสายกษัตริย์ราชวงศ์ศรีนาวนำถม[36] ก็วางแผนขับไล่ขอมสบาดโขลญลำพงออกไป แผนดังกล่าวเริ่มขึ้นโดยพ่อขุนบางกลางหาวทรงนำทัพไปตั้งที่เมืองศรีสัชนาลัย ส่วนพ่อขุนผาเมืองได้ยกทัพไปตั้งที่บางขลง(หรือบางขลัง)ไม่ห่างจากเมืองศรีสัชนาลัยเท่าใดนัก เพื่อให้ดูประหนึ่งว่ากำลังมุ่งหน้าจะเข้าโจมตีสุโขทัย แล้วจึงอพยพชาวเมืองบางขลงไปไว้ที่เมืองราดและเมืองสากอได จากนั้นพ่อขุนผาเมืองได้นำทัพถอยมารวมกับทัพของพ่อขุนบางกลางหาวที่เมืองศรีสัชนาลัย ก่อนจะยกทัพกลับไปยังเมืองราด[37] การกระทำดังกล่าวทำให้ขอมสบาดโขลญลำพงรีบยกทัพเข้าตีเมืองศรีสัชนาลัย พ่อขุนผาเมืองจึงได้โอกาสยกทัพบุกเข้าเมืองสุโขทัยสำเร็จ[38] ต่อมาพ่อขุนผาเมืองทรงยกแคว้นสุโขทัยพร้อมทั้งถวายพระนาม“ศรีอินทรบดินทราทิตย์”แด่พ่อขุนบางกลางหาวผู้ทรงเป็นต้นราชวงศ์พระร่วง

            ข. พัฒนาการทางการเมืองของแคว้นสุโขทัย
            กรุงสุโขทัยมีกษัตริย์ปกครองทั้งสิ้น ๙ พระองค์ ปรากฏพระนามในจารึกหลักที่๑(จารึกพ่อขุนรามคำแหง)และจารึกหลักที่๔๕(จารึกปู่สบถหลาน) แต่จะกล่าวถึงเพียงรัชสมัยที่มีเหตุการณ์สำคัญ ดังนี้
พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ (ประมาณ พ.ศ.๑๗๙๓- ไม่ปรากฏปีสวรรคต)
พ่อขุนบางกลางหาวเสวยราชย์เป็นพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์พระร่วง ในรัชสมัยนี้เกิดเหตุการณ์ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดยกเข้ามาตีเมืองตาก พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ส่งกองทัพไปปราบปราม ครั้งนั้นขุนรามราชโอรสของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ทำยุทธหัตถีชนะขุนสามชน จึงได้รับพระราชทานนามว่า “พระรามคำแหง”[39]

            พ่อขุนรามคำแหง (พ.ศ.๑๘๒๒-๑๘๔๒) [40]
            ในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงระหว่างปีพ.ศ.๑๘๒๕–๑๘๓๐ พระเจ้าหยวนสีโจว(กุบไลข่าน)กษัตริย์จีนแห่งราชวงศ์หยวน(มองโกล)ได้ส่งทัพโจมตีดินแดนต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายครั้ง อาทิ รุกรานกัมพูชาในปีพ.ศ.๑๘๒๕ โจมตีพุกามในปีพ.ศ.๑๘๒๖และพ.ศ.๑๘๓๐ ทำสงครามกับตังเกี๋ยและจามปาระหว่างปีพ.ศ.๑๘๒๖–๑๘๒๘ ส่งผลให้รัฐหลายแห่งโดยเฉพาะพุกามและกัมพูชาต้องยินยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขทางการเมืองและการค้าของจีน พงศาวดารโยนกสะท้อนให้เห็นว่า ผลจากการเสื่อมคลายอำนาจทางการเมืองของพุกามและกัมพูชา ทำให้พ่อขุนรามคำแหง พ่อขุนมังรายและพ่อขุนงำเมือง “ตั้งพิธีกระทำสัตย์ต่อกันและกัน ณ ริมฝั่งน้ำขุนภู” นอกเหนือจากจะมีเหตุผลเพื่อการเป็นพันธมิตรซึ่งกันและกันแล้ว ยังเป็นการแบ่งเขตอิทธิพลทางการเมืองอย่างเด่นชัดอีกด้วย [41]

            ในปีพ.ศ.๑๘๒๕ จีนพยายามส่งราชทูตชื่อ เหอจื่อจื้อเข้ามาทวงเครื่องราชบรรณาการจากสุโขทัย แต่เรือกลับถูกพายุพัดเข้าไปยังอาณาจักรกัมพูชา ทำให้คณะทูตถูกจับฆ่าทั้งหมด แต่ในปีพ.ศ.๑๘๓๕ สุโขทัยได้ส่งคณะทูตชุดแรกไปติดต่อกับจีน ทำให้จีนส่งทูตเข้ามายังแคว้นสุโขทัยเป็นครั้งที่๒ในปีพ.ศ. ๑๘๓๖
            หลักฐานศิลาจารึกหลักที่๑(จารึกพ่อขุนรามคำแหง)ระบุว่า ในปีพ.ศ.๑๘๒๖ พ่อขุนรามคำแหงได้ประดิษฐ์อักษรไทยขึ้น จารึกหลักนี้ระบุว่าพ่อขุนรามคำแหงทรงเป็น “นักปราชญ์รู้ธรรม”ตรงกับข้อความในศิลาจารึกหลักที่๒ คือ “ลูกพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ผู้หนึ่ง ชื่อพ่อขุนรามราชปราชญ์รู้ธรรม” นอกจากนี้พ่อขุนรามคำแหงยังทรงสงเคราะห์ประชาชนด้วยการไม่เก็บภาษีจกอบ ไม่ประหารเชลยศึก ไม่เบียดเบียนทรัพย์สินของพลเมือง กำหนดสิทธิการสืบทอดมรดก และทรงผดุงความยุติธรรมในการตัดสินอรรถคดีความดังปรากฏในศิลาจารึกหลักที่๑ว่า “ไพร่ฟ้าลูกเจ้าลูกขุนผิแลผิดแผกแสกว้างกัน สวนดูแท้แลจึ่งแล่งความแก่ขาด้วยซื่อ บ่เข้าผู้ลักมักผู้ซ่อน” เป็นต้น บทบาทสำคัญอีกประการหนึ่งของพ่อขุนรามคำแหงคือ การทรงศีลในวันสำคัญทางศาสนา การสร้างขดารหินเพื่อให้พระเถระแสดงธรรมในวันพระ อีกทั้งยังทรงว่าราชการบนขดารหินนั้นด้วย อันชี้ให้เห็นถึงการปกครองแบบทศพิธราชธรรมในรัชสมัยของพระองค์[42]
            สมเด็จพระมหาธรรมราชาที่๑ (พระเจ้าลิไทย)
            ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร กล่าวในบทความชื่อ “ประวัติศาสตร์สุโขทัยจากจารึก” ตอนหนึ่งว่า เมื่อพ่อขุนรามคำแหงสวรรคตแล้ว อาณาจักรสุโขทัยแตกเป็นเมืองเล็กเมืองน้อยและแยกตัวเป็นอิสระ อาทิ เมือง เชียงทอง(ตาก) และเมืองพระบาง(นครสวรรค์) สมเด็จพระมหาธรรมราชาที่๑ จึงทรงรวบรวมอาณาจักรสุโขทัยขึ้นเป็นปึกแผ่นครอบคลุมระหว่างแม่น้ำปิง แม่น้ำน่านและแม่น้ำป่าสัก เมืองต่างๆที่อยู่ในอาณาเขตของแคว้นสุโขทัย ได้แก่ เชียงทอง กำแพงเพชร พระบาง ปากยม(พิจิตร) สองแคว สระหลวง(พิษณุโลก) เมืองราด สะค้า ลุมบาจายและน่าน[43]

            ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ระบุว่าในปีพ.ศ.๑๙๒๑ ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาที่๒ แคว้นสุโขทัยตกเป็นประเทศราชของกรุงศรีอยุธยา ต่อมาสมเด็จพระมหาธรรมราชาที่๓(ไสยลือไทย)ทรงประกาศเอกราชในปี พ.ศ. ๑๙๔๓ แต่ในปีพ.ศ.๑๙๕๓ ก็ตกเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยาถึงพ.ศ.๑๙๘๑ จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๐๐๖ สุโขทัยจึงถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกรุงศรีอยุธยา[44]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น