หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2558

๓) แคว้นนครศรีธรรมราช

๓) แคว้นนครศรีธรรมราช

            จดหมายเหตุจีนในพุทธศตวรรษที่๑๓เรียกแคว้นนครศรีธรรมราชว่า “ตัน-หม่า-หลิง” หรือ“ตัน-เหมย-หลิว” เอกสารของจีนระบุว่าแคว้นตัน-หม่า-หลิงแยกตัวมาจากแคว้นลัง-ยะ-สิว(ลังกาสุกะหรือหลั่ง-เจีย-ซู)ทางทิศเหนือ จากการศึกษาของนักวิชาการพบว่าชื่อตัน-หม่า-หลิงในเอกสารจีนตรงกับชื่อแคว้นตามพรลิงค์ในเอกสารของอินเดีย ลังกาและศิลาจารึกที่พบในท้องถิ่นคาบสมุทรภาคใต้ของประเทศไทย[21]

            แคว้นนครศรีธรรมราช อาจมีพัฒนาการมาก่อนพุทธศตวรรษที่๑๙ เนื่องจากเมื่อพวกโจฬะเข้ามามีอิทธิพลในดินแดนคาบสมุทรมลายูแทนแคว้นศรีวิชัยในพุทธศตวรรษที่๑๖แล้ว พวกโจฬะได้ย้ายศูนย์กลางทางการเมือง การปกครองและการค้าจากฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรมลายูมายังเมืองนครศรีธรรมราช ทำให้เมืองนครศรีธรรมราชกลายเป็นศูนย์อำนาจเข้มแข็งที่สุดในคาบสมุทรมลายู

            ในพุทธศตวรรษที่๑๘ แคว้นนครศรีธรรมราชถูกปกครองโดยราชวงศ์ปัทมวงศ์ หลักฐานศิลาจารึกและตำนานพงศาวดารของภาคใต้ระบุว่าพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์ปัทมวงศ์ทรงพระเกียรติยศดุจดังพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งอินเดีย ด้วยเหตุนี้พระมหากษัตริย์แห่งแคว้นนครศรีธรรมราชจึงมักทรงพระนามว่าพระเจ้าศรีธรรมโศกราช ซึ่งมาจากรากศัพท์ว่า “ศรี + ธรรมะ + อโศกะ + ราชะ”

            แคว้นนครศรีธรรมราชมีอำนาจครอบคลุมเกือบตลอดทั้งแหลมมลายู ตำนานเมืองนครศรีธรรมราชกล่าวว่าเขตแดนของแคว้นนครศรีธรราชประกอบด้วยเมืองต่างๆ ๑๒ เมือง เรียกว่าเมือง ๑๒ นักษัตริย์ ได้แก่ ปัตตานี กลันตัน ปะหัง ไทรบุรี พัทลุง ชุมพร บันทายสมอ สะอุเลา ตะกั่วป่าและเมืองกระ แคว้นนครศรีธรรมราชเป็นศูนย์ทางความเชื่อเนื่องในศาสนาฮินดู และศาสนาพุทธนิกายมหายานและหินยาน ศิลาจารึกหลักที่๑ของสุโขทัยกล่าวว่า นครศรีธรรมราชเป็นศูนย์กลางการเผยแผ่พุทธศาสนาไปยังแคว้นสุโขทัย[22]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น