หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2558

๑) สภาพที่ตั้ง

๑) สภาพที่ตั้ง
            ในพ.ศ.๒๓๑๐ ระหว่างที่กรุงศรีอยุธยาถูกกองทัพพม่าปิดล้อมจวนจะเสียกรุง สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ขณะทรงดำรงพระยศเป็นที่พระยากำแพงเพชรทรงนำไพร่พลไทย จีนและคนเชื้อสาย โปรตุเกสรวมประมาณ ๕๐๐ คนเศษตีฝ่าแนวปิดล้อมของกองทัพพม่าออกไปทางตะวันออก[66] เพื่อรวบรวมกำลังไพร่พลแถบหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออกต่อสู้ขับไล่พม่าออกไปจากพระราชอาณาจักรสยาม พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาบันทึกว่า เมื่อเสด็จฯถึงเขตเมืองระยองแล้ว พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสยังบรรดานายทัพและรี้พลว่า

            “…กรุงเทพมหานครงจะเสียแก่พม่าเป็นแน่แท้ ตัวเราคิดจะซ่องสุมประชาราษฎรในแขวงหัวเมืองตะวันออกทั้งปวงให้ได้มากแล้ว จะยกกลับเข้าไปกู้กรุงให้คงคืนเป็นราชธานีดังเก่า แล้วจักทำนุบำรุงสมณพราหมณาประชาราษฎรซึ่งอนาถาหาที่พำนักมิได้ให้ร่มเย็นเป็นสุขานุสุข และจะยอยกพระบวรพุทธศาสนาให้โชตนาการไพบูลย์ขึ้นเหมือนอย่างแต่ก่อน เราจะตั้งตัวเป็นเจ้าขึ้น ให้คนให้คนทั้งหลายนับถือยำเกรงจงมาก การซึ่งจะก่อกู้แผ่นดินจึงจะสำเร็จโดยง่าย ท่านทั้งหลายจะเห็นประการใด นายทหารและไพร่พลทั้งปวงก็เห็นชอบด้วยพร้อมกัน จึงยกพระยากำแพงเพชรขึ้นเป็นเจ้าเรียกว่าเจ้าตากตามนามเดิม…”[67]

            หลังเสียกรุงศรีอยุธยา ราชธานีมีสภาพทรุดโทรม เต็มไปด้วยซากศพ ผู้คนอดอยากและคนโทษจำนวนมาก ภาพที่พระองค์ทอดพระเนตรเห็นทำให้ทรงสลดพระทัยและมีพระราชประสงค์จะเสด็จฯไปประทับยังเมืองจันทบูรณ์ แต่อาณาประชาราษฎรและสมณชีพราหม์ได้ร่วมกับกราบบังคมทูลฯให้เสด็จฯประทับ ณ พระตำหนักเมืองธนบุรี[68]

            นักวิชาการอธิบายว่า การที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเลือกกรุงธนบุรีเป็นราชธานี อาจประกอบด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ [69]

            ๑.กรุงธนบุรีเป็นเมืองหน้าด่านที่ควบคุมเส้นทางการเดินเรือในอ่าวไทย สามารถควบคุมการค้าและยุทธปัจจัยจากภายนอกเข่าสู่ภายในพระราชอาณาจักรได้เป็นอย่างดี
            ๒.กรุงธนบุรีมีป้อมปราการสองฟากแม่น้ำ ได้แก่ ป้อมวิไชยประสิทธิ์และป้อมวิไชเยนทร์ ซึ่งจะเกื้อหนุนต่อการป้องกันพระนคร
            ๓.กรุงธนบุรีมีที่ตั้งเหมาะสมเอื้อต่อการล่าถอยไปยังหัวเมืองตะวันออกได้ในเวลาอันรวดเร็ว
            ๔.ทำเลที่ตั้งของกรุงธนบุรีมีความเหมาะสมต่อการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ
            ๕.กำแพงป้อมวิไชยประสิทธิ์อันเป็นที่ตั้งพระราชวังแม้จะมีพื้นที่เพียง ๑ ตารางกิโลเมตร แต่ก็มีความแข็งแรงเหมาะต่อการเข้าไปปรับปรุงเป็นที่ประทับ และแม้ว่าจะทรงมีพระราชดำริในการสร้างพระตำหนักที่ประทับใหม่ภายในป้อมวิไชยเยนทร์ทางฝั่งตะวันออกแล้วก็ตาม

            สภาพที่ตั้งของกรุงธนบุรีมีลักษณะชัยภูมิแบบที่เรียกว่า “เมืองอกแตก” คือมีแม่น้ำไหลผ่านกลางเมือง ศูนย์กลางของตังเมืองแม้จะตั้งอยู่ภายในพระราชวังเดิมปากคลองบางหลวง(คลองบางกอกใหญ่)ฝั่งตะวันตก แต่อาณาเขตของตัวเมืองครอบคลุมทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ในปีพ.ศ.๒๓๑๖สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดฯให้เกณฑ์ราษฎรขุดคูก่อกำแพงเมืองทางฝั่งตะวันตกตามแนวคลองวัดวิเศษการไปออกคลองบางหลวง ส่วนทางฝั่งตะวันออกโปรดฯให้ขุดคูเมืองตั้งแต่บริเวณปากคลองโรงไหมใต้สะพานพระปิ่นเกล้าไปตามแนวซึ่งเรียกว่า “คลองหลอด” ไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองตลาดในปัจจุบัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น