หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2558

๗) แคว้นสุพรรณภูมิ

๗) แคว้นสุพรรณภูมิ 

            อาคม พัฒิยะและนิธิ เอียวศรีวงศ์เชื่อว่า “เสียน” ในหลักฐานของวังต้ายวนเรื่อง “บันทึกย่อเผ่าชาวเกาะ” หมายถึง “แคว้นสุพรรณภูมิ “ บันทึกของวังต้ายวนระบุว่า “ครั้นเมื่อเดือนที่๕ ของฤดูร้อนแห่งรัชกาลจื้อเจิ้ง ปีฉลู(พ.ศ.๑๘๙๒) เสียนยอมจำนนต่อหลอหู(ละโว้)” ข้อความนี้สอดคล้องกับหลักฐานประวัติศาสตร์ของราชวงศ์หมิงที่ระบุว่า “เนื่องจากหลอหูมีแสนยานุภาพสูง จึงได้ผนวกเอาดินแดนของเสียน และเรียกชื่อว่า เสียนหลอหู”

            เมื่อ Paul Pelliot แปลบันทึกของโจวต้ากวนซึ่งเดินทางร่วมกับคณะราชทูตจีนไปยังกัมพูชาในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่๘ เขาระบุว่า ครั้นหลอหูยึดครอง “เสียน” ในปีเดียวกัน จีนจึงเรียกรัฐใหม่นี้ว่า“เสียนหลอ” ในเวลาต่อมา [45]

            พิเศษ เจียจันทร์พงษ์อธิบายว่า แคว้นสุพรรณภูมิตั้งอยู่ในเขตตะวันตกของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และมีอาณาเขตกระจัดกระจายอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำเพชรบุรีและแม่น้ำน้อยซึ่งเดิมเคยเป็นดินแดนของแคว้นนครชัยศรี โดยได้ย้ายศูนย์กลางเดิมจากเมืองนครชัยศรีหรือนครปฐมโบราณไปตั้งอยู่ที่เมืองสุพรรณภูมิหรือสุพรรณบุรีในปัจจุบัน[46] เนื่องจากลำน้ำบางแก้วซึ่งไหลผ่านเมืองนครชัยศรีเปลี่ยนเส้นทางเดิน ทำให้เรือใหญ่ไม่สามาถเข้าถึงได้โดยสะดวก ขณะที่เมืองสุพรรณภูมินั้นตั้งอยู่ริมแม่น้ำใหญ่คือ แม่น้ำสุพรรณบุรี สามารถติดต่อค้าขายทางทะเลและเมืองต่างๆในภูมิเดียวกันได้สะดวก ชื่อเมืองสุพรรณภูมิปรากฏอยู่ในหลักฐานต่างๆ อาทิ ศิลาจารึกหลักที่๑ ของสุโขทัย(กลางพุทธศตวรรษที่๑๙)และจารึกซึ่งพบที่เมืองชัยนาท(พุทธศตวรรษที่๒๑) แสดงให้เห็นถึงความสืบเนื่องทางวัฒนธรรม

            ในสมัยอยุธยา พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยายืนยันให้เห็นถึงความสำคัญว่า แคว้นสุพรรณภูมิมีพระมหากษัตริย์ปกครองควบคู่กันมากับกรุงศรีอยุธยา เมืองสำคัญของแคว้นสุพรรณภูมิ ได้แก่ เมืองแพรกศรีราชาริมแม่น้ำน้อย(ในเขตจังหวัดชัยนาท) เมืองราชบุรี เมืองสิงห์บุรี และมีเมืองเพชรบุรีเป็นเมืองท่าคุมเส้นทางการค้าทางใต้ จดหมายเหตุจีนระบุว่าในปี พ.ศ.๑๗๗๗ มีทูตเสียนเดินทางจากเพชรบุรีไปยังจีน หลักฐานที่ยืนยันการติดต่อระหว่างจีนกับเพชรบุรีคือ การค้นพบเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ซ้องจำนวนมากในสถูปเจดีย์ที่เมืองเพชรบุรี[47]

            แคว้นสุพรรณภูมิอาจมีความสัมพันธ์กับ แคว้นสุโขทัยและนครศรีธรรมราชในฐานะที่เป็น “สมาพันธรัฐ” ซึ่งถูกเรียกรวมกันในจดหมายเหตุจีนประมาณพุทธศตวรรษที่๑๙ ว่า “เสียน” เครือข่ายของบ้านเมืองในเขตแคว้นอโยธยาครอบคลุมขึ้นไปทางเหนือของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสักและแม่น้ำเลย ได้แก่ นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ และเพชรบูรณ์[48]

            การปกครองของแคว้นสุพรรณภูมิน่าจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับแคว้นอโยธยา คือประกอบด้วยเมืองหลวง เมืองลูกหลวงและเมืองที่มีความสำคัญรองลงไป พระนามเฉพาะของพระมหากษัตริย์แห่งแคว้นสุพรรณภูมิ คือ สมเด็จพระบรมราชาธิราช ส่วนผู้ปกครองเมืองลูกหลวงก็จะทรงมีพระนามว่า “พระอินทราชา”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น