หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2558

๓) โครงสร้างทางสังคมและการควบคุมกำลังคน

๓) โครงสร้างทางสังคมและการควบคุมกำลังคน
            สังคมสมัยกรุงธนบุรีเป็นสังคมที่มีความสับสนอันเกิดจากผกระทบของสงครามเสียกรุงศรีอยุธยา ถึงกระนั้นโครงสร้างทางสังคมในสมัยธนบุรียังคงประกอบด้วยชนชั้นปกครองและชนชั้นซึ่งถูกปกครองเช่นเดียวกับสมัยอยุธยา การควบคุมกำลังคนหรือระบบไพร่เป็นสิ่งสำคัญต่อการปกครองมาโดยตลอด เนื่องจากหากการควบคุมกำลังคนไม่มีประสิทธิภาพ การเรียกเกณฑ์ทัพเพื่อทำสงครามป้องกันตนเองก็จะด้อยประสิทธิภาพไปด้วย

            ในสมัยธนบุรี สถานการณ์ที่บ้านเมืองยังไม่สงบราบคาบ ทำให้มูลนายถือโอกาสนำไพร่หลวงหรือไพร่สมและทาสมาเป็นสมบัติส่วนตัว นอกจากนี้ไพร่อีกส่วนหนึ่งยังหนีไปอยู่ตามป่าเพื่อความปลอดภัยและเพื่อการหลุดพ้นจากพันธะทางสังคม สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงทรงฟื้นฟูระบบไพร่ขึ้นมาใหม่ ด้วยการโปรดฯให้สักข้อมือหมายหมู่สังกัดของไพร่หลวงและไพร่สมทั้งในส่วนกลางและหัวเมือง แล้วให้ส่งบัญชีเป็นทะเบียนหางว่าวต่อกรมพระสุรัสวดี ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการสักหมายหมู่ไพร่ทุกกรมกอง และมีการกำหนดโทษผู้ปลอมแปลงเหล็กสักหรือขโมยเหล็กสักของหลวงไปใช้ถึงขั้นประหารชีวิตทั้งโคตร[79]

            ในปีพ.ศ.๒๓๒๒ ช่วงปลายรัชสมัยเกิดกบฎไพร่ในเขตกรุงเก่า พระภิกษุชื่อมหาดาประกาศว่าจะ“รื้อการถ่ายน้ำ”หรือไขน้ำออกจากบึงบึงพระราม เพื่อเอาสมบัติในบึงออกมาบูรณะวัดพระราม มีการแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์จนเป็นที่เลื่อมไขแก่เจ้าเมืองกรุงเก่า แม้แต่ผู้คนในกรุงธนบุรียังเกิดความศรัทธา ทำให้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีต้องส่งกองทหารขึ้นไปปราบ ชี้ให้เห็นว่าทั้งปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาการเมืองต่างก็ผูกพันกับระบบการควบคุมกำลังคน และกบฎที่เกิดขึ้นใกล้ราชธานีเป็นสิ่งที่สะท้อนให้ให้เห็นถึงความเปราะบางของการควบคุมกำลังคนในรัชสมัยนี้

            ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์เสนอว่า ปัญหาเช่นนี้มีรากฐานมาตั้งแต่เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีสถาปนาราชธานีขึ้นใหม่ๆ พระองค์ทรงแต่งตั้งหัวหน้าชุมนุม หรือ “นายซ่อง” ที่ยอมอ่อนน้อมเป็นข้าขอบขัณฑสีมาให้ยังคงปกครองผู้คนในสังกัดตนเองได้ต่อไป โดยอาศัยความจงรักภักดีที่หัวหน้าชุมนุมมีต่อพระองค์เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวความสัมพันธ์ แต่เมื่อจะต้องเกณฑ์คนเพื่อเข้าทัพ ทำงานโยธาหรือเรียกเกณฑ์ส่วยสินค้าป่าแล้ว ทางการจะต้องเรียกเกณฑ์จากหัวหน้าชุมนุม อันแสดงให้เห็นว่าผู้มีอำนาจควบคุมกำลังคนจริงๆในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีคือหัวหน้าชุมนุมแต่เดิม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น