หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2558

๑) ที่ตั้งและสภาพทั่วไป

๑.๔.๑ พัฒนาการทางประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา

๑) ที่ตั้งและสภาพทั่วไป
            กรุงศรีอยุธยาเป็นอาณาจักรสำคัญซึ่งมีทำเลที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อุดมสมบูรณ์มีแม่น้ำไหลผ่าน ๓ สาย ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยาแม่น้ำลพบุรี และแม่น้ำป่าสัก นอกจากน้ำยังมีลำคลองสาขาอีกหลายสายไหลเชื่อมกันทั้งในกำแพงเมืองและนอกกำแแพงเมือง สภาพภูมิประเทศเช่นนี้จึงเป็นปัจจัยเกื้อหนุนต่อการอุปโภค บริโภค การคมนาคมทางน้ำ การค้าขายและการเกษตรกรรม อีกทั้งยังใช้เป็นแนวป้องกันการรุกรานของข้าศึกศัตรูได้เป็นอย่างดีด้วย ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ(พ.ศ.๒๐๙๑–๒๑๑๑) มีการขยายกำแพงเมืองและขุดทางน้ำเชื่อมกันระหว่างแม่น้ำลพบุรีกับแม่น้ำป่าสักเพื่อดัดแปลงให้เป็นคูเมือง กรุงศรีอยุธยาจึงมีสภาพเป็นเกาะลักษณะคล้ายสัณฐาน(แผนผัง)ของเรือสำเภาที่มีแม่น้ำล้อมรอบทุกด้าน

            กำแพงเมืองพระนครศรีอยุธยามีความยาววัดรวมกันทั้งสิ้น ๑๒ กิโลเมตร ประกอบด้วยป้อมปราการ ๑๖ ป้อม ประตูเมือง ๙๙ ประตู แบ่งเป็นประตูน้ำ ๒๐ ประตู ประตูบก ๑๘ ประตู และประตูช่องกุด ๖๑ ประตู ภายในกำแพงเมืองนอกจากจะอาศัยลำคลองเป็นทางคมนาคมแล้วยังมีถนนปูอิฐขนานไปกับลำคลองทุกสาย เมื่อถนนตัดผ่านลำคลองก็จะมีสะพานอิฐ สะพานศิลาหรือสะพานไม้ทอดเชื่อม[57] ลักษณะเช่นนี้ทำให้กรุงศรีอยุธยาได้รับการขนานนามจากพ่อค้าและนักเดินทางชาวตะวันตกว่า สวยงามราวกับเป็นเมืองเวนิสแห่งตะวันออก

            ภายในตัวเมืองมีการแบ่งเขตที่อยู่อาศัยออกเป็น เขตพระราชวังหลวงติดกำแพงเมืองด้านเหนือ พระราชวังหน้าติดกำแพงเมืองด้านตะวันออกเฉียงเหนือ พระราชวังหลังติดกำแพงเมืองด้านตะวันตก และในกำแพงเมืองยังมีเขตที่อยู่อาศัยของเชื้อพระวงศ์ ขุนนาง ราษฎร พ่อค้าไทย จีน อินเดีย เปอร์เซีย ฯลฯ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีเขตที่อยู่อาศัยของชาวมอญ ลาว จีน ญวน ญี่ปุ่น โปรตุเกส อังกฤษ ฮอลันดา ฝรั่งเศส มักกะสัน และอื่นๆนอกกำแพงเมืองทางทิศใต้ของเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาอย่างเป็นสัดส่วนด้วย โดยชาวจีนส่วนหนึ่งอาศัยอยู่บริเวณตั้งแต่ย่านวัดพนัญเชิงขึ้นไปจนถึงปากคลองวัดดุสิต รวมถึงในเกาะเมืองด้านใต้(ตรงข้ามวัดพนัญเชิงและย่านป้อมเพชร) ชาวอินเดียอาศัยนอกเกาะเมืองด้านใต้ ชาวอังกฤษและฮอลันดาอาศัยอยู่บริเวณย่านด้านใต้ของวัดพนัญเชิงลงมา ชาวโปรตุเกสอยู่บริเวณตำบลบ้านดินด้านใต้วัดบางกระจะลงมา ชาวญี่ปุ่นตั้งค่ายอยู่ฝั่งตรงกันข้ามเยื้องกับหมู่บ้านโปรตุเกส เป็นต้น

๒) การปกครอง
            การปกครองสมัยกรุงศรีอยุธยามีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมของพระราชอำนาจสูงสุดในการปกครองอันละเมิดมิได้ พื้นฐานของพระราชอำนาจนี้มาจากขนบธรรมเนียมประเพณีและความเชื่อในศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ ซึ่งปรากฏอย่างเด่นชัดอยู่ในกฎมนเทียรบาล อันเป็นเครื่องมือกำหนดแบบแผนความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่มีต่อพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์จึงทรงมีพระราชฐานะเป็นสมมติเทพ ผู้ทรงเปรียบเสมือนเทพเจ้า ซึ่งจะต้องมีการประกอบพระราชพิธีราชาภิเษก อีกทั้งยังทรงเป็นเจ้าชีวิตและเจ้าแผ่นดิน ความเชื่อดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของลัทธิเทวราชา ซึ่งได้รับสืบทอดแนวความคิดมาจากอาณาจักรกัมพูชา

            ในด้านการเมืองนั้น กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีศูนย์กลางทางการปกครองที่แวดล้อมด้วยเมืองเล็กโดยรอบปริมณฑลของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเรียกว่า “หัวเมืองชั้นใน” ถัดออกไปคือ เมืองลูกหลวงหรือเมืองหลานหลวง(ขึ้นอยู่กับยศของเจ้านายผู้ปกครองเมือง) เรียกว่า “หัวเมืองชั้นนอกหรือเมืองพระยามหานคร” และเมืองประเทศราช มีขุนนางที่สมุหนายกดูแลฝ่ายพลเรือน สมุหกลาโหมเป็นผู้ควบคุมดูแลฝ่ายทหาร ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ(พ.ศ.๑๙๙๑–๒๐๑)มีการปฏิรูปการปกครองและยกเลิกการแต่งตั้งพระราชวงศ์ไปปกครองหัวเมืองสำคัญ (เมืองพระยามหานคร ) เนื่องจากกรุงศรีอยุธยามีอาณาเขตเพิ่มมากและและเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การเกิดปัญหาการสะสมกำลังเพื่อแย่งชิงราชบัลลังก์ ดังปรากฏหลักฐานเมื่อครั้งสมเด็จพระบรมราชาธิราช(ขุนหลวงพะงั่ว พ.ศ.๑๙๑๓-๑๙๓๑)แห่งเมืองสุพรรณบุรียกทัพเข้ามาชิงราชสมบัติจากสมเด็จพระราเมศวร และสมเด็จพระราเมศวร(พ.ศ.๑๙๓๑–๑๙๓๘)ยกทัพจากเมืองลพบุรีเข้ามาชิงราชบัลลังก์จากสมเด็จพระเจ้าทองลัน(พ.ศ.๑๙๑๓) เป็นต้น

            การปฏิรูปการปกครองในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเกิดขึ้นในปีพ.ศ.๑๙๙๘ มีเหตุผลหลักๆ ๓ ประการ คือ ประการแรก เพื่อขยายอำนาจส่วนกลางออกควบคุมหัวเมืองต่างๆ ซึ่งเป็นการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ประการที่สอง เพื่อเป็นการแบ่งแยกหน้าที่ของฝ่ายพลเรือนและทหารให้ชัดเจน ประการที่สาม เพื่อการถ่วงดุลย์อำนาจของขุนนางฝ่ายต่างๆมิให้มีโอการร่วมมือกันล้มราชบัลลังก์ การปฏิรูปของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถซึ่งเรียกว่าการปกครองแบบจตุสดมภ์ถูกนำมาใช้จนถึงรัชสมัยพระบาสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่(พ.ศ.๒๔๑๑–๒๔๕๓) รัชกาลที่๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ [58]

หลักการปกครองแบบจตุสดมภ์ ประกอบด้วยการปกครองส่วนกลางและการปกครองหัวเมือง

            การปกครองส่วนกลาง อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของสมุหพระกลาโหมและสมุหนายก ซึ่งจะอำนาจในการบังคับบัญชาเสนาบดีจตุสดมภ์ ได้แก่ กรมเวียง กรมวัง กรมคลังและกรมนาอีกชั้นหนึ่ง

            สมุหพระกลาโหม เป็นตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีผู้บังคับบัญชากรมกลาโหม มีหน้าที่บังคับบัญชาดูแลกำกับราชการและไพร่ฝ่ายทหารทั้งในราชธานีและหัวเมืองต่างๆทั่วราชอาณาจักร รวมทั้งกรมในสังกัดฝ่ายกลาโหม ได้แก่ กรมอาสาซ้าย กรมอาสาขวา กรมเขนทองขวา กรมเขนทองซ้าย กรมทวนทองขวา กรมทวนทองซ้าย กรมช่างสิบหมู่ เป็นต้น ยศและราชทินนามของสมุหพระกลาโหมคือ เจ้าพระยามหาเสนาบดีวิริยภักดีบดินทรสุรินทรฤาชัย ถือตราพระคชสีห์

            สมุหนายก เป็นตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีผู้บังคับบัญชากรมมหาดไทยมีหน้าที่บังคับบัญชาดูแลกำกับขุนนางและไพร่ฝ่ายพลเรือนทั้งในราชธานีและหัวเมืองต่างๆทั่วราชอาณาจักร รวมทั้งกรมในสังกัดฝ่ายพลเรือน รวมทั้งกรมจตุสดมภ์ทั้ง ๔ และกรมอื่นๆ อาทิ กรมมหาดไทยฝ่ายเหนือ กรมมหาดไทยฝ่ายพะลำพัง กรมมหาดไทยตำรวจภูธร กรมมหาดไทยตำรวจภูบาลฯลฯ ด้วย ยศและราชทินนามของสมุหนายกคือ เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์สมหนายกอัครมหาเสนาบดี ถือตราพระราชสีห์
เสนาบดีเวียง วัง คลังและนาอันเป็นหัวใจของการปกครองแบบจตุสดมภ์มีบทบาทดังนี้[59]
            กรมเวียง (กรมนครบาล) มีหน้าที่ในการปกครองท้องที่ ปราบอาชญากรรม รักษาความสงบภายใน ดูงแลปัญหาอัคคีภัยในเขตราชธานีและหัวเมืองใกล้ราชธานี ตัดสินคดีความมหันตโทษ และควบคุมดูแลกรมในสังกัด อาทิ กรมตะเวณขวาและกรมตะเวณซ้าย ฯลฯ เสนาบดีกรมเวียงคือ พระยายมราช ถือตรา พระยมขี่ทรงสิงห์
            กรมวัง (กรมธรรมาธิกรณ์) มีหน้าที่ดูแลราชการ งานยุติธรรมและงานพระราชพิธีในราชสำนัก แต่งตั้งยกกระบัตรไปประจำยังหัวเมือง เพื่อกำกับราชการต่างพระเนตรพระกรรณพระมหากษัตริย์และรายงานเรื่องต่างๆเข้ามายังส่วนกลาง รวมทั้งกำกับราชการกรมในสังกัด ได้แก่ กรมชาวที่พระบรรทม กรมพระภูษามาลา กรมฉางข้าวบาตร และกรมสวนหลวง ฯลฯ เสนาบดีคือ พระยาธรรมาธิบดี ถือตราเทพยดาทรงโค
            กรมคลัง (กรมโกษาธิบดี) มีหน้าที่เก็บ รักษา และจ่ายพระราชทรัพย์ ดูแลการเก็บภาษีอากรต่างๆ รับผิดชอบการค้าสำเภาและการผูกขาดการค้าทั้งภายในและภายนอกพระราชอาณาจักร ดูแลชาวต่างชาติและความสัมพันธ์กับต่างประเทศ รวมถึงบังคับบัญชา เสนาบดีคือพระยาโกษาธิบดี ถือตราบัวแก้ว
            กรมนา (กรมเกษตราธิการ) มีหน้าที่ตรวจตราและส่งเสริมการทำนาของประชาชน เก็บหางข้าว ออกโฉนดที่นา จัดซื้อข้าวขึ้นฉางหลวง ตัดสินคดีความเกี่ยวกับที่นา ผลิตผลในนาและโคกระบือ รวมทั้งดูแลกรมในสังกัด เช่น กรมฉาง เป็นต้น เสนาบดีคือ พระยาพลเทพ ถือตรา ๙ ดวงเพื่อใช้ในโอกาสต่างๆ อาทิ ตราพิทยาธรถือดอกจงกลนี ตราพระพิรุณขี่นาค ตราพระโพสพยืนบนแท่น ตราเทวดานั่งบุษบก เป็นต้น

การปกครองหัวเมือง
            หัวเมืองชั้นใน นสมัยอยุธยาตอนต้นหัวเมืองชั้นในมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวงและเมืองหลานหลวง สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงลดฐานะเมืองดังกล่าวให้เป็นหัวเมืองจัตวา ขึ้นตรงต่อราชธานี โดยส่วนกลางจะส่ง “ผู้รั้ง”ไปปกครอง ตำแหน่งนี้จะมีอำนาจน้อยกว่าเจ้าเมือง หัวเมืองชั้นในทิศเหนือจรดเมืองชัยนาท ทิศตะวันออกจรดเมืองปราจีนบุรี ทิศใต้จรดเมืองกุยบุรี ทิศตะวันตกจรดเมืองกาญจนบุรี

            หัวเมืองชั้นนอก อยู่ถัดออกไปจากหัวเมืองชั้นใน อาจเรียกว่าเมืองพระยามหานครก็ได้ และถูกแบ่งออกเป็นหัวเมืองชั้นตรี หัวเมืองชั้นโทและหัวเมืองชั้นเอกตามระดับความสำคัญ ได้แก่ เมืองพิษณุโลก เมืองนครศรีธรรมราช เมืองศรีสัชนาลัย เมืองสุโขทัย เมืองกำแพงเพชร เป็นต้น โดยส่วนกลางอาจส่งขุนนางไปปกครองหรือแต่งตั้งขุนนางเชื้อสายเจ้าเมืองเดิมปกครองก็ได้ แต่ละเมืองก็จะมีสมุหพระกลาโหม สมุหนายกและขุนนางจตุสดมภ์ปฏิบัติราชการเช่นเดียวกับราชธานี

            หัวเมืองประเทศราช ได้แก่ เมืองขึ้นอาทิ หัวเมืองเขมร หัวเมืองมอญ หัวเมืองมลายู ซึ่งส่วนกลางมิได้ส่งขุนนางไปปกครอง แต่หัวเมืองประเทศราชจะต้องส่งเครื่องราชบรรณาการและดอกไม้เงิน ดอกไม้ทองไปถวายตามเวลาที่กำหนดไว้[60]

๓) โครงสร้างทางสังคมและระบบการควบคุมกำลังคน
            สังคมอยุธยาเป็นสังคมของชนชั้น แบ่งเป็นชนชั้นผู้ปกครอง ชนชั้นที่อยู่ใต้ปกครอง และพระสงฆ์ ชนชั้นผู้ปกครอง ได้แก่ พระมหากษัตริย์ เจ้านาย ขุนนางและข้าราชการ ส่วนชนชั้นที่อยู่ใต้ปกครอง ได้แก่ ไพร่และทาส สำหรับพระสงฆ์นั้นเป็นชนชั้นพิเศษที่แยกออกมาจากชนชั้นปกครองและชนชั้นที่ถูกปกครอง
            เงื่อนไขในการกำหนดศักดินา คือ ชาติกำเนิดและตำแหน่งหน้าที่ทางราชการ ในสังคมอยุธยา “ศักดินา” เป็นเครื่องมือสำคัญในการแจกจ่ายไพร่พล และควบคุมกำลังคน รวมทั้งกำหนดบทบาท หน้าที่และความรับผิดชอบของบุคคลที่มีต่อรัฐและมูลนาย กำลังคนหรือแรงงานไพร่เป็นทรัพยากรที่มีค่าทั้งในด้านการเมืองและเศรษฐกิจ นักวิชาการบางคนอธิบายว่า ศักดินา หมายถึง กรรมสิทธิ์ในที่ดินอันเป็นพื้นฐานของการจัดระบบสังคม[61] กล่าวคือ พระมหาอุปราชทรงเป็นผู้มีศักดินาสูงสุด จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ เจ้านายทรงกรมมีศักดินา ๑๑,๐๐๐ - ๕๐,๐๐๐ ขุนนางคือข้าราชการที่มีศักดินาตั้งแต่ ๔๐๐– ๑๐,๐๐๐ ข้าราชที่มีศักดินาต่ำกว่า ๔๐๐ ถือเป็นข้าราชการชั้นประทวน ไพร่มีศักดินา ๑๐–๒๕ ส่วนวณิพกและทาสมีศักดินาไม่เกิน ๕

            ไพร่ หมายถึง ราษฎรชายหญิงที่มิได้เป็นมูลนายหรือทาส ไพร่ทุกคนจะต้องขึ้นทะเบียนสังกัดมูลนาย(เจ้านายและขุนนาง) เพื่อการเกณฑ์แรงงานตามกรมของมูลนายตามระยะเวลาที่กำหนด
แรงงานไพร่นอกจากจะมีความสำคัญต่อการผลิตด้านต่างๆในสังคมแล้ว ยังเป็นกำลังสำคัญของอำนาจทางการเมือง การสงคราม งานโยธา รวมถึงงานสาธารณูปการทั้งหลายด้วย พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์กล่าวว่า การจัดระบบควบคุมกำลังคนหรือระบบไพร่นี้เริ่มมีขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่๒ กล่าวคือ

“ศักราช ๘๘๐ ขาลศก(พ.ศ.๒๐๖๑) ครั้งสมเด็จพระรามาธิบดี สร้างพระศรีสรรเพชญ์ เสวยราชสมบัติ แรกตำราพิชัยสงครามและแรก(ทำสารบาญ)ชี พระราชสัมฤทธิ์ทุกเมือง“[62]

ไพร่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น แบ่งเป็น
            ไพร่หลวง เป็นไพร่สังกัดพระมหากษัตริย์ พระองค์ทรงปกครองไพร่หลวงผ่านขุนนาง โดยทรงให้ไพร่หลวงสังกัดในกรมต่างๆของขุนนาง ไพร่หลวงเป็นสมบัติของพระมหากษัตริย์มิใช่ไพร่ของขุนนางที่ได้รับมอบหมายให้ดูแล ไพร่หลวงมีภาระในการขุดคลอง สร้างกำแพงเมือง ป้อมปราการ ถนนและวัดหลวง รวมทั้งเป็นทหารในยามศึกด้วย ไพร่หลวงมีอายุตั้งแต่ประมาณ ๑๘ ปีและปลดระวางเมื่ออายุครบ ๗๐ ปี ใน ๑ ปี ไพร่หลวงถูกเกณฑ์แรงงาน ๖ เดือน เรียกว่า “การเข้าเดือน” เมื่อออกเดือนแล้วก็ยังต้องไปทำงานรับใช้มูลนายด้วยเป็นระยะๆ จึงไม่มีอิสระในการประกอบอาชีพและต้องรับภาระหนักกว่าไพร่สมมาก

            ในสมัยอยุธยาตอนกลางเมื่อการค้าต่างประเทศเจริญรุ่งเรืองมาก จึงเกิดไพร่ประเภทใหม่คือ “ไพร่ส่วย” ไพร่ส่วยเป็นไพร่หลวงซึ่งมีถิ่นฐานอยู่ไกลจากราชธานี การเกณฑ์แรงงานมาใช้จึงไม่สะดวก แต่เนื่องจากอาศัยอยู่ในที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากร เช่น เงิน ทอง ดีบุก รังนก ไม้ฝาง ผลเร่วและ ฯลฯ ทางการจึงอนุญาตให้ไพร่ประเภทนี้ส่งสิ่งของมีค่าแทนการเกณฑ์แรงงานได้ เพื่อใช้ในราชการและส่งขายต่างประเทศ

            ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์(พ.ศ.๒๑๙๙–๒๑๓๒)ทางการอนุญาตให้มีไพร่ส่วยเงินได้ ไพร่หลวงคนใดไม่ประสงค์จะทำงานให้ทางการ ก็สามารถจ่ายเงินแทนได้ในอัตรา ๒ บาทต่อเดือน แต่ไพร่หลวงซึ่งถูกเกณฑ์แรงงานเป็นกลุ่มที่มีมากที่สุด[63]

            ไพร่สม เป็นไพร่สังกัดมูลนาย(เจ้านายและขุนนาง) ไพร่สมมีฐานะเป็นสมบัติของมูลนายที่สามารถสืบทอดเป็นมรดกได้ และมีหน้าที่รับใช้มูลนายของตน จึงไม่ต้องถูกเกณฑ์มาทำงานโยธาให้แก่รัฐ ไพร่ที่สังกัดเจ้าทรงกรมในสมัยอยุธยาตอนปลายถือเป็นไพร่สมด้วย
ภาระของไพร่สม ได้แก่ การซ่อมแซมที่พักของมูลนาย การเดินสาส์น การติดตามเป็นบริวาร การสร้างวัดของมูลนาย การทำงานฝีมือ และการนำสิ่งของมาบรรณาการมูลนายอย่างสม่ำเสมอ ในยามสงครามไพร่สมจะถูกเกณฑ์เป็นทหารทหารสังกัดกรมกองของมูลนาย
ระบบไพร่แม้จะเป็นรูปแบบการควบคุมกำลังคนที่มีประสิทธิภาพและสร้างความเป็นปึกแผ่นแก่อาณาจักรกรุงศรีอยุธยาเป็นเวลาหลายร้อยปี แต่ก็เป็นระบบที่ก่อให้เกิดปัญหานานาประการ อาทิ ปัญหาไพร่หนีนาย มูลนายกดขี่ไพร่ ไพร่หลวงหนีงานหนักแล้วบวชเป็นพระ ไพร่หลวงติดสินบนมูลนายเพื่อให้รับตนเป็นไพร่สม มูลนายส้องสุมไพร่สมเพื่อชิงอำนาจทางการเมือง ปัญหาการก่อกบฎเนื่องจากประสบความเดือดร้อนจากระบบไพร่ เช่น กบฎญาณพิเชียร (พ.ศ.๒๑๒๔) กบฎธรรมเถียร(พ.ศ.๒๒๓๗) และกบฎบุญกว้าง(พ.ศ.๒๒๔๑) เป็นต้น ทางการจึงออกกฎหมายห้ามมูลนายใช้งานไพร่หลวงดุจทาส กฎหมายห้ามเบียดบังไพร่หลวงเป็นไพร่สม การออกระเบียบให้ตรวจนับจำนวนไพร่ในสังกัดให้ถูกต้องตามบัญชีหางว่าว เป็นต้น

๔) เศรษฐกิจ
            สภาพอันเหมาะสมทางภูมิประเทศของเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาและที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของพระราชอาณาจักร ทำให้กรุงศรีอยุธยามีฐานะเป็นศูนย์กลางทางการติดต่อค้าขายทั้งภายในและภายนอก เนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของผลผลิตทางเกษตรกรรม รวมถึงสินค้าประเภทของป่า และการเป็นแหล่งระบายสินค้าทั้งสินค้าเครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องประดับ ผ้าและของฟุ่มเฟือยจากจีน อินเดีย เปอร์เซีย อาหรับ หมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก และยุโรป ฯลฯ

            สินค้าจากต่างประเทศมักมีราคาแพงลูกค้ามักเป็นชนชั้นปกครองและคหบดี ตลาดภายในยังเป็นตลาดขนาดเล็กมีระบบการค้าขายแลกเปลี่ยนแบบยังชีพ ระบบเงินตราเป็นสื่อสำคัญในการแลกเปลี่ยน ผู้ผลิตเงินตราที่ใช้ในการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้า คือ ราชสำนัก

            ในระยะแรกการค้าขายเป็นแบบเสรี เมื่อการค้ากับตะวันตกขยายตัวมากขึ้น จึงมีการตั้งกรมพระคลังสินค้า เพื่อดำเนินการผูกขาดทางการค้า ควบคุมสินค้าเข้าและสินค้าออก รวมทั้งกำหนดราคาสินค้าทุกชนิดด้วย
สินค้าออกสำคัญ ได้แก่ ข้าว หมาก พลู ฝ้าย มะพร้าว กระวาน กานพลู พริกไท น้ำตาล เกลือ สินค้าป่าที่สำคัญคือ ไม้ กฤษณา อำพัน ฝาง งาช้าง หรดาล นอระมาด ช้าง ม้า นกยูง นกแก้วห้าสี แร่ทองคำ เงิน พลอย เครื่องสังคโลกและเครื่องปั้นดินเผา เป็นต้น

            สินค้าเข้าสำคัญ ได้แก่ ผ้า แพรพรรณ เครื่องถ้วยจีน เครื่องถ้วยญี่ปุ่น มีด ดาบ หอก เกราะ ทองแดง สารส้ม และเครื่องรัก เป็นต้น [64]

๕) การติดต่อกับต่างประเทศ
            กรุงศรีอยุธยามีการติดต่อกับชาติต่างๆทั้งชาวตะวันออกและชาวตะวันตก ชาวตะวันออกที่เข้ามาติดต่อกับกรุงศรีอยุธยานอกจากชาติเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกัน ได้แก่ พม่า ลาว เขมร มอญ จามปา อะเจะห์ ชวา ฯลฯ รวมทั้งจีน ญี่ปุ่น เวียดนาม อินเดีย ศรีลังกา อาหรับ เปอร์เซีย และมาดากัสกา ส่วนชาวตะวันตกที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับชาวเมืองพระนครศรีอยุธยา ได้แก่ ชาวโปรตุเกส อังกฤษ ฮอลันดา สเปน และฝรั่งเศส ชาวโปรตุเกสเป็นชาวยุโรปชาติแรกที่เดินทางเข้ามาติดต่อกับกรุงศรีอยุธยาหลังจากยึดครองมะละกาได้เมื่อพ.ศ.๒๐๕๔

            ผลจากการเข้ามาของชาวต่างชาติทั้งชาวเอเชียและชาวยุโรปทำให้กรุงศรีอยุธยาเลือกสรรปรับใช้ เรียนรู้และหล่อมหลอมศิลปวิทยาการนานาประการจากต่างชาติ อาทิ การจ้างผู้เชี่ยวชาญการเดินเรือสำเภาชาวจีน การจ้างนักบัญชีและตัวแทนทางการค้าชาวอาหรับ การเรียนรู้ตำราพิชัยสงครามและวิทยาการปืนใหญ่จากชาวโปรตุเกส การรับรูปแบบศิลปวัฒนธรรม การเรียนรู้ภาษาโปรตุเกสเพื่อใช้เป็นภาษากลางในการติดต่อกับต่างชาคิ การจ้างชาวโปรตุเกสเป็นล่ามในราชสำนัก[65] เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น