หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2558

๒) การปกครอง

๒) การปกครอง
            เมื่อขับไล่พม่าออกไปจากเมืองธนบุรีและสถาปนาศูนย์อำนาจแห่งใหม่ขึ้นมาแล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินได้เสด็จฯออกปราบปรามชุมนุมต่างๆที่ตั้งตนเป็นอิสระหลังการสลายตัวของกรุงศรีอยุธยารวมเป็นเวลา ๓ ปี เพื่อสถาปนาความมั่นคงทางการเมืองของราชธานี

            กลยุทธ์ที่ทรงใช้ในการรวบรวมความเป็นปึกแผ่นของพระราชอาณาจักร คือทรงเน้นทั้งวินัยทหารที่ประกอบไปด้วยความเด็ดขาดและการรอมชอมเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองและการปกครอง ดังปรากฏในปีพ.ศ.๒๓๑๑ เมื่อทรงปราบชุมนุมเจ้าพิมาย(กรมหมื่นเทพพิพิธ พระโอรสสมเด็จพระบรมราชาที่๓ พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ)ได้ก็โปรดฯให้ประหารชีวิตเสีย แต่ครั้นปราบชุมนุมเจ้าพระยานครศรีธรรมราชสำเร็จในปลายปี พ.ศ.๒๓๑๒ กลับทรงใช้วิธีการผูกน้ำใจเนื่องจากทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า “เจ้านครมิได้เป็นขบถประทุษร้าย เป็นแต่ตั้งตัวในเวลาบ้านเมืองเป็นจลาจล จึงโปรดให้เข้ามารับราชการในกรุงธนบุรี และให้เจ้านราสุริยวงศ์หลานเธอออกไปครองเมืองนครศรีธรรมราช และทรงสถาปนาให้เป็นเจ้าประเทศราช”[70]

            แม้ในปีพ.ศ.๒๓๑๑ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจะไม่ทรงประสบความสำเร็จในการปราบชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก แต่สามารถปราบปรามพระตะบอง เสียมราฐและเขมรฝ่ายนอกได้ภายในปีเดียวกัน ต่อมาในปีพ.ศ.๒๓๑๓ ทรงปราบชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลกและชุมนุมเจ้าพระฝางได้ตามลำดับ ถือเป็นการรวบรวมและฟื้นฟูอาณาเขตของอาณาจักรกรุงศรีอยุธยากลับคืนมาได้อีกครั้ง [71] ยุทธศาสตร์สำคัญที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงนำมาใช้ในการสงครามคือ การยกทัพออกไปรับศึกที่ชายแดนแทนการตั้งรับศึกในราชธานีดังที่เคยใช้ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์เมื่อครั้งกรุงเก่า การออกไปรับศึกนอกราชธานีมีผลดีคือ ทำให้บ้านเมืองและราษฎรไม่บอบช้ำจากการสงคราม

            ในด้านการปกครองนั้นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงอาศัยขุนนางผู้ใหญ่ผู้เคยรับราชการสมัยอยุธยาเป็นผู้ถ่ายทอดแบบแผนการปกครองบ้านเมือง ในสมัยกรุงธนบุรี พระมหากษัตริย์ยังทรงเป็นผู้มีพระราชอำนาจสูงสุดในฐานะพระประมุขและผู้ปกครองบ้านเมืองให้มีความสงบสุขภายใต้ทศพิธราชธรรมและแนวคิดจักรพรรดิราช ในรัชสมัยนี้การปกครองแบบจตุสดมภ์ถูกนำมาใช้อีก สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงปรับปรุงการปกครองส่วนภูมิภาคด้วยการทรงแต่งตั้งนายทหารคนสนิทหรือเจ้าเมืองเดิมออกไปปกครองหัวเมืองใหญ ส่วนเมืองเล็กซึ่งอยู่ห่างไกลออกไปทรงมอบหมายให้หัวเมืองใหญ่ดูแลต่างพระเนตรพระกรรณอีกชั้นหนึ่ง อาทิ เมืองนครราชสีมาดูแลหัวเมืองภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมืองนครศรีธรรมราชดูแลหัวเมืองฝ่ายใต้ เมืองพิษณุโลกดูแลหัวมืองฝ่ายเหนือและเมืองจันทบูรณ์ดูแลหัวเมืองฝ่ายตะวันออก [72]

            การฟื้นฟูอำนาจทางการเมืองของราชสำนักกรุงธนบุรีประการสำคัญ คือ การขยายพระราชอำนาจไปยังหัวเมืองล้านนา ในปีพ.ศ.๒๓๑๗ สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จฯยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่เพื่อขจัดอิทธิพลของพม่า โดยความร่วมมือของพระยาจ่าบ้านและพระยากาวิละ จากนั้นทรงแต่งตั้งพระยาจ่าบ้านเป็นเจ้าประเทศราชเมืองเชียงใหม่และพระยากาวิละเป็นเจ้าประเทศราชเมืองลำปาง ต่อมาเมืองลำพูน เมืองแพร่ และเมืองน่านก็เข้าสวามิภักดิ์ด้วย[73] นอกจากนี้เวียงจันทร์ หลวงพระบาง ปัตตานีและเคดะห์ ต่างก็ยอมรับในพระราชอำนาจของพระองค์เช่นเดียวกัน[74]บุคคลสำคัญที่มีบทบาทในการสร้างพระราชอำนาจของสมเด็จพระเจ้าตากสินคือ เจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ ผู้ก่อตั้งราชวงศ์จักรีในเวลาต่อมา

            เดวิด เค. วายแอตต์อธิบายว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงประสบความสำเร็จในฐานะนักรบมากกว่านักปกครอง หลักฐานของบาทหลวงชาวฝรั่งเศสในระบุว่า เมื่อกองทัพสยามยกกลับกรุงธนบุรีในเดือนเมษายน พ.ศ.๒๓๒๒ ภายในราชสำนักธนบุรีเริ่มมีความไม่ปกติเกิดขึ้น กล่าวคือ สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงใช้เวลาส่วนใหญ่ในการสวดพระพุทธมนต์ ทรงงดพระกระยาหารและทรงบำเพ็ญวิปัสนาธุระ จากนั้นทรงประกาศว่าทรงมีอิทธิฤทธิ์สามารถเหาะขึ้นไปบนอากาศได้ พระองค์ยังทรงบังคับให้พระสงฆ์ยอมรับว่าทรงบรรลุโสดาบัน และหากพระเถระรูปใดไม่ยอมถวายบังคมพระองค์ท่านในฐานะเทพ ก็จะถูกโบย ถอดยศและต้องถูกเกณฑ์แรงงาน ทำให้ราษฎร ขุนนาง ข้าราชการหวั่นกลัว ส่งผลกระทบต่อพระราชอำนาจของราชสำนัก

            ตอนปลายรัชสมัยหลักฐานของบาทหลวงฝรั่งเศสบันทึกไว้ว่า นอกจากพระราชจริยวัตรของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจะส่งผลกระทบต่อขุนนางและข้าราชการแล้ว ยังสร้างความเดือดร้อนต่อพ่อค้าและชาวต่างชาติซึ่งตั้งถิ่นฐานในสยามด้วย ในปีพ.ศ.๒๓๒๔ พ่อค้าจีนต่างยกเลิกการค้าขาย เนื่องจากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระอาการผิดปกติทางพระสติมากยิ่งขึ้น แม้แต่พระมเหสี พระโอรสและขุนนางระดับสูงก็ถูกโบย เพื่อให้รับสารภาพอย่างปราศจากความผิด นักวิชาการเชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงทางลบที่เกิดขึ้นในตอนปลายรัชสมัยของพระองค์ อาจมีสาเหตุจากการที่สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงพระราชฐานะพระมหากษัตริย์ที่สืบเชื้อสายมาจากสามัญชนลูกครึ่งจีน แม้จะทรงเคยได้รับการยอมรับจากอาณาประชาราษฎร์ภายหลังการกอบกู้พระราชอาณาจักร แต่เมื่อบ้านเมืองมีความมั่นคงแล้ว กลุ่มอำนาจเดิม อาทิ ตระกูลขุนนางซึ่งเคยเป็นชนชั้นปกครองมาหลายชั่วอายุคนรวมถึงขุนนางและพ่อค้า เริ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องผลประโยชน์ดั้งเดิมที่เคยได้รับอย่างเงียบๆในช่วงที่พระราชจริยวัตรของสมเด็จพระเจ้าตากสินเปลี่ยนแปลงไป[75]

            ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ วิเคราะห์ว่าในตอนปลายรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ขุนนางแบ่งออกเป็น ๓ กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่๑ ข้าหลวงเดิม หมายถึง ขุนนางที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงไว้วางพระทัยเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นผู้รับใช้ใกล้ชิดและถวายตัวในระยะแรกๆ กลุ่มที่๒ ขุนนางผู้ใหญ่ซึ่งรับราชการมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา มีความรู้เรื่องพระราชพิธีและแบบแผนราชการ กลุ่มที่๓ กลุ่มข้าราชการทั่วไป [76] แต่มัลลิกา มัสอูดีอธิบายค่อนข้างชัดเจนกว่าว่า ขุนนางในราชสำนักสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีแบ่งเป็น กลุ่มขุนนางที่สวามิภักดิ์ต่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี กลุ่มขุนนางที่สนับสนุนขบถพระยาสรรค์ และกลุ่มขุนนางที่สนับสนุนสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก[77]

            พระราชอาณาเขตในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีแม้จะขยายไปมากกว่าสมัยอยุธยา แต่อำนาจส่วนใหญ่กลับเป็นของเจ้าประเทศราชทั้งในนครศรีธรรมราช ปัตตานี ล้านนา กัมพูชา เวียงจันทน์และหลวงพระบาง นอกจากนี้การที่ขุนนางต้นตระกูลบุนนาคก็ยังคงมีอิทธิพลในกรมพระคลังสินค้าร่วมกับขุนนางเชื้อสายจีนและพราหมณ์ในด้านเศรษฐกิจ และขุนนางเชื้อสายเก่าแก่ยังอาศัยชื่อเสียง เครือข่ายความชำนาญพิเศษและความได้เปรียบในการควบคุมกำลังคน เพื่อรักษาความมั่นคงของตำแหน่งและแสวงหาก้าวหน้าของตนด้วย ซึ่งล้วนเป็นเงื่อนไขที่ทำให้กลุ่มผลประโยชน์เหล่านี้เห็นพ้องใช้เป็นข้ออ้างในปีพ.ศ.๒๓๒๔ว่า เพื่อประโยชน์สุขของแผ่นดินสยามและความยั่งยืนของพระพุทธศาสนา สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีสมควรจะถูกถอดลงจากพระราชอำนาจ[78]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น