หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2558

๘) แคว้นละโว้-อโยธยา

๘) แคว้นละโว้-อโยธยา

            นักวิชาการเชื่อว่า แคว้นละโว้-อโยธยาพัฒนามาจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการเมืองของแคว้นทวารวดี ซึ่งเคยมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองละโว้ และมีเมืองสำคัญรองลงมาคือเมืองราม หนังสือชินกาลมาลีปกรณ์กล่าวว่า เมื่อพระนางจามเทวีธิดากษัตริย์แห่งกรุงละโว้ทรงได้รับการอัญเชิญเสด็จฯไปครองเมืองหริภุญชัยนั้น พระสวามีของพระนางจามเทวีทรงครองเมืองราม หนังสือตำนานเมืองลำพูนกล่าวว่า พระนางจามเทวีทรงเป็นพระธิดาเลี้ยงและสะใภ้หลวงของพระเจ้าจักรพรรดิกษัตริย์แห่งลวรัฐ(กรุงละโว้) ส่วนพระสวามีของพระนางทรงเป็นอุปราชและปกครองเมือง“รามั(ญ)นคร” ตำนานเมืองลำพูนระบุว่า กษัตริย์แห่งเมืองลวรัฐทรงเป็น “พระมหากษัตริย์อโยทธยา”[49]

            หลักฐานจากพงศาวดารเหนือสนับสนุนข้อเสนอที่ระบุว่า ศูนย์กลางทางการปกครองของแคว้นละโว้ย้ายมายังเมืองอโยธยาบริเวณปากน้ำแม่เบี้ยทางฟากตะวันออกของเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา ทำให้เมืองละโว้เปลี่ยนฐานะกลายเป็นเมืองลูกหลวงจนถึงสมัยอยุธยา แต่ถึงกระนั้นจดหมายเหตุจีนก็ยังคงเรียกแคว้นแห่งนี้ว่าแคว้นหลอหูดังเดิม หนังสือชินกาลมาลีปกรณ์เรียกแคว้นอโยธยาว่า แคว้นกัมโพช เพื่อเน้นให้เห็นการเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมระหว่างแคว้นละโว้กับอาณาจักรกัมพูชาซึ่งมีมาแต่เดิม[50]

            การย้ายศูนย์จากเมืองละโว้มายังเมืองอโยธยาประมาณพุทธศตวรรษที่๑๘ อาจมีสาเหตุมาจากปัจจัยผลักดันทางเศรษฐกิจ เมื่อการค้าขายทางทะเลกับจีนและดินแดนใกล้เคียงขยายตัว ทำให้เมืองอโยธยาซึ่งตั้งอยู่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำลพบุรี แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำน้อย กลายเป็นชุมทางสำคัญของการค้ากับแคว้นต่างๆทั้งภายในและภายนอก อีกทั้งยังเป็นแหล่งพบปะสังสรรค์ของพ่อค้าจากแหล่งวัฒนธรรมที่หลากหลายทั้งชาวจีน อินเดีย อาหรับและเปอร์เซีย

            หลักฐานในพงศาวดารเหนือและคำให้การชาวกรุงเก่ากล่าวถึงการผลัดเปลี่ยนกันขึ้นมามีอำนาจเหนือแคว้นอโยธยาของผู้ปกครองเชื้อสายต่างๆ อาทิ พระนารายณ์จากราชวงศ์ละโว้ พระยาโคตรบองจากแคว้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พระยาสินธพอมรินทร์และพระเจ้าสายน้ำผึ้งจากเชื้อสายสามัญชน เชื้อสายของพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์จากกัมพูชา หรือแม้แต่ในหลักฐานของวันวลิตก็ระบุว่า พระเจ้าอู่ทองทรงสืบเชื้อสายมาจากพระเจ้ากรุงจีน เป็นต้น เรื่องราวเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงการผสมผสานทางวัฒนธรรมของแคว้นอโยธยาได้เป็นอย่างดี

            ทางด้านความเชื่อทางศาสนานั้น พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ เสนอว่า แคว้นอโยธยาสืบทอดการนับถือศาสนาพุทธนิกายหินยานผสมผสานกับนิกายมหายานมาจากเมืองละโว้(ทวารวดี) ต่อมาได้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาพุทธนิกายลังกาวงศ์ ดังปรากฏหลักฐานการขุดค้นทางโบราณคดีที่วัดมเหยงคณ์ ซึ่งสร้างก่อนเมืองพระนครศรีอยุธยาและมีชื่อตรงกับวัดมหิยังคณ์ในลังกา

            แคว้นอโยธยายังคงรักษาจารีตดั้งเดิมที่ตกทอดมาตั้งแต่สมัยแคว้นละโว้ กล่าวคือ พระนามของพระมหากษัตริย์และเจ้านายมักจะเกี่ยวข้องกับความเชื่อในศาสนาพราหมณ์และวรรณกรรมเรื่องรามายณะ ได้แก่ สมเด็จพระรามาธิบดี หรือสมเด็จพระราเมศวร เป็นต้น หลักฐานกฎหมายเก่า รวมถึงวรรณคดีลิลิตโองการแช่งน้ำและโบราณสถานขนาดใหญ่จำนวนมากก็สะท้อนให้เห็นความเจริญทางวัฒนธรรมของแคว้นอโยธยา โดยเฉพาะซากเจดีย์โบราณซึ่งถูกครอบไว้ด้วยเจดีย์ใหญ่ชัยมงคล หรือการสร้างพระพุทธไตรรัตนนายกก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา ๒๖ ปีตามหลักฐานในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์[51]

            ในปีพ.ศ. ๒๔๕๐พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เตชะคุปต์) สมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่าเสนอว่า ทางฟากตะวันออกของเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณก่อน “สมัยกรุงเทพทวาราวดี(กรุงศรีอยุธยา)” [52] ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายว่า พระเจ้าอู่ทองเสด็จฯมาสร้างเมืองอโยธยาเป็นราชธานี โดยทรงอ้างหลักฐานการสร้างพระพุทธรูป “พระเจ้าพะแนงเชิง” ในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์[53]การที่สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวถึงเมืองอโยธยา เป็นการอธิบายให้เห็นว่ารากฐานการเติบโตของอาณาจักรอยุธยาหรือ “กรุงเทพทวาราวดี” มีพัฒนาการสืบเนื่องมาจากเมืองอโยธยา [54]

            นักวิชาการจำนวนหนึ่งยังคงเชื่อว่า การศึกษาเรื่องราวยุคหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างการเสื่อมอำนาจทางการเมืองของอาณาจักรกัมพูชาในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่๑๘ ถึงพุทธศักราช ๑๘๙๓ เป็นช่วงของพัฒนาการทางประวัติศาสตร์สมัยอโยธยา(ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙) แต่นักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่งก็มีความเห็นว่า คำว่า “อโยธยา” กับ “อยุธยา” เป็นคำเรียกศูนย์กลางทางการเมืองรัฐเดียวกันแต่ต่างกันเพียงช่วงเวลาเท่านั้น โดยศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร เสนอความเห็นว่า คำว่า “อโยธยา” เป็นคำเรียกเมืองพระนครศรีอยุธยาก่อนการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่๑ในปีพ.ศ.๒๑๑๒ หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งนั้นแล้ว “อโยธยา” จึงถูกเรียกว่า “กรุงศรีอยุธยา” นับแต่บัดนั้น

            เมื่อระบุถึงเหตุการณ์ช่วงเสียกรุงในพ.ศ.๒๑๑๒ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาก็มิได้ระบุนามเมืองพระนครศรีอยุธยาว่า “อโยธยา”แต่อย่างใด ราชธานีแห่งนี้ยังคงถูกระบุนามว่า“กรุงศรีอยุธยา”สืบเนื่องมาโดยตลอด จึงชี้ให้เห็นว่ายังไม่ควรยึดถือข้อคิดเห็นข้างต้นเป็นข้อสรุป กล่าวคือ

            “…ครั้นเถิงศักราช ๙๓๑ มะเส็งศก(พ.ศ.๒๑๑๒) ณ วันอาทิตย์ แรม ๑๑ ค่ำ เดือน๙ เพลารุ่งแล้วประมาณ ๓ นาฬิกา ก็เสียกรุงพระนครศรีอยุธยาแก่พระเจ้าหงสา…”

            นอกเหนือจากแคว้นต่างๆดังกล่าวข้างต้นแล้ว ดินแดนประเทศไทยในอดีตยังมีร่องรอยของแว่นแคว้นหรือรัฐโบราณซึ่งยังไม่สามารถหาหลักฐานมามาอธิบายได้อย่างเพียงพอ แม้ว่าบางรัฐจะปรากฏเรื่องราวอยู่ในตำนาน พงศาวดารหรือศิลาจารึก อาทิ แคว้นศรีจนาศะ แคว้นศรีโคตรบูรณ์ แคว้นอวัธยปุระและแคว้นศามพูกปัฏฏนะ เป็นต้น แต่ก็จำเป็นจะต้องอาศัยระยะเวลาในการศึกษาค้นคว้ากันต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น