หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2558

สมัยอารยธรรมยุคเริ่มแรกในดินแดนประเทศไทย

๑.๑ สมัยอารยธรรมยุคเริ่มแรกในดินแดนประเทศไทย

            การก่อตัวของอารยธรรมยุคเริ่มแรกของดินแดนในประเทศไทย เริ่มต้นจากระบบโครงสร้างทางสังคม อันประกอบด้วยความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลระดับครอบครัว หมู่บ้าน จนถึงชุมชนเมือง พัฒนาการของรัฐหรือแว่นแคว้นระยะเริ่มแรกนั้น สมาชิกของชุมชนต่างมีความผูกพันต่อระบบสายใยเครือญาติอย่างลึกซึ้ง ทั้งในระดับชุมชนของตนและชุมชนใกล้เคียง ชุมชนที่ขยายตัวออกมาจากหมู่บ้านเดิมของบรรพบุรุษ ต่างก็ตระหนักถึงความสัมพันธ์ทางเครือญาติของตนกับหมู่บ้านบรรพบุรุษเช่นกัน ความสัมพันธ์ดังกล่าวรวมไปถึงความผูกพันต่างๆทางสังคมระหว่างวงศ์ตระกูลด้วย

            หน้าที่และความสัมพันธ์ทางเครือญาติจึงเป็นกลไกของพันธะสำคัญที่มีต่อสถานะผู้นำ(chiefdom) เพราะแม้แต่สมาชิกฐานะต่ำต้อยก็ยังสามารถลำดับความสัมพันธ์กับผู้นำได้ โดยผ่านการลำดับความสัมพันธ์ทางเครือญาติที่มีมาแต่บรรพบุรุษ เมื่อชุมชนขยายตัวเป็นสังคมระดับรัฐเต็มตัวแล้ว ความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ที่เข้าผสมผสานกับความสัมพันธ์ระบบเครือญาติจึงก่อตัวตามมา กลายเป็นแนวความคิดเกี่ยวกับระบบการแบ่งชนชั้นในสังคม [1]

            การแบ่งชนชั้นในสังคม เป็นที่มาของระบบการปกครองตามลำดับชั้น(hierarchy) หากเปรียบโครงสร้างทางสังคมกับสามเหลี่ยมรูปปิรามิดแล้ว ชนชั้นสูงหรือชนชั้นผู้นำหรือชนชั้นผู้ดี(elite)มีฐานะอยู่บนยอดปิรามิด ส่วนชนชั้นอื่นๆจะมีฐานะลดหลั่นลงมา เมื่อแนวคิดทางการปกครองแบบมีผู้นำสูงสุด ซึ่งเกี่ยวข้องกับการครอบครองพื้นที่และจำนวนประชากรที่มากขึ้น แพร่หลายเข้ามาแทนที่ระบบการปกครองแบบผู้นำชุมชน จึงต้องอาศัยผู้ชำนาญการด้านต่างๆเข้ามาเสริมโครงสร้างทางการเมือง เงื่อนไขสำคัญของระบบการปกครองดังกล่าว คือ การรับคำสั่งจากส่วนกลางแล้วนำไปบังคับใช้ในภูมิภาครอบๆศูนย์กลางของรัฐ การปกครองระบบนี้ แม้ชนชั้นปกครองและผู้ชำนาญการจะไม่ต้องเกี่ยวข้องกับการสร้างผลผลิตเบื้องต้นโดยตรง แต่พวกเขาก็สามารถดำรงชีพอยู่ได้ จากการหล่อเลี้ยงของระบบภาษีและผลผลิตส่วนเกิน ซึ่งถูกเรียกเก็บเข้าสู่ส่วนกลาง ขณะที่การรับใช้ชนชั้นปกครอง อาทิ การสร้างที่อยู่หรือเรือนของชนชั้นปกครอง ใช้วิธีการเกณฑ์แรงงานโดยปราศจากสิ่งตอบแทน

            การรุกรานด้วยกำลังเพื่อขยายอาณาเขตและพื้นที่ทางสังคม และการใช้ความเชื่อทางศาสนาเป็นเครื่องมือในการขยายอำนาจ ก็ถือเป็นการสร้างความมั่นคงให้แก่ชนชั้นปกครองรูปแบบหนึ่งเช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น