หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2558

๔) เศรษฐกิจ

๔) เศรษฐกิจ
            การกวาดต้อนผู้คนกลับไปยังพม่าหลังสงครามในปีพ.ศ.๒๓๑๐ เป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้กรุงธนบุรีขาดแคลนแรงงานผลิตจำนวนมาก ภาวะสงครามทำให้ไพร่หยุดการทำไร่ไถนาเป็นเวลาหลายปี จึงก่อให้เกิดปัญหาขาดแคลนอาหารตามมา การที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเกลี้ยกล่อมผู้คนเข้าสวามิภักดิ์ ทำให้ราษฎรเข้ามาอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก จึงเกิดปัญหาข้าวยากหมากแพงและคนอดตายซ้ำเติม บาทหลวงชาวฝรั่งเศสบันทึกว่า “ค่าอาหารการรับประทานในเมืองแห่งนี้แพงอย่างที่สุด เวลานี้ข้าวสารขายกันทะนานละ ๒ เหรียญครึ่ง” สภาพปัญหาเช่นนี้จึงทำสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมีพระราชปรารภว่า “บุคคลผู้ใดเป็นอาทิ คือ เทวดา บุคคลผู้มีฤทธิ์มาประสิทธิ์ มากระทำให้ข้าวปลาอาหารบริบูรณ์ขึ้นให้สัตว์โลกเป็นสุขได้ แม้ผู้นั้นจะปรารถนาพระพาหาแห่งเราข้างหนึ่ง ก็อาจตัดบริจาคให้ผู้นั้นได้”[80]

            ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ชี้ว่า สมัยธนบุรีสสยามเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจอย่างรุนแรง เฉพาะเรื่องการผลิตข้าวให้พอกินตลอดทั้งปีก็ต้องใช้เวลาอยู่หลายปี ส่วนเรื่องการผลิตข้าวเพื่อส่งออกนั้น เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้เลยเกือบตลอดรัชสมัย ยิ่งต้องทำสงครามเกือบทุกปีก็ยิ่งทำให้ทางการต้องสะสมข้าวในฉางหลวงไว้มาก ส่วนแรงงานที่ใช้ในการผลิตข้าวก็ต้องต้องลดน้อยลงเนื่องจากถูกเกณฑ์เข้ากองทัพ มิหนำซ้ำรายได้จากการอากรค่านาก็เก็บได้เพียง ๑ ใน ๓ ของพื้นที่เพาะปลูกในที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยากับพื้นที่ใกล้เคียงเท่านั้น ความสามารถในการควบคุมกำลังคนยังเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้รายได้จากสินค้าป่ามีปริมาณน้อยกว่าสมัยอยุธยาตอนปลาย พื้นที่เก็บอากรค่านาเพิ่งขยายไปถึงเมืองพิชัย สงขลา ตราดและโคราชในสมัยรัตนโกสินทร์นี้เอง

            บาทหลวงฝรั่งเศสและนักเดินทางชาวเดนมาร์กบันทึกว่า พระราชทรัพย์ส่วนหนึ่งของแผ่นดินมาจากการประมูลสิทธิ์ในการขุดหาสมบัติที่ฝังไว้ในศาสนาสถานที่กรุงเก่า เงื่อนไขนี้เองทำให้นักประวัติศาสตร์บางคนเชื่อว่ามีส่วนทำให้เศรษฐกิจสมัยธนบุรีฟื้นตัว นอกจากนี้แม้การค้าสำเภากับจีนจะยังมิได้ดำเนินไปอย่างเป็นทางการจนกระทั่งถึงปีสุดท้ายในรัชกาล แต่ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างทางการสยามและพ่อค้าจีนก็ยังคงมีอยู่ สิ่งที่ขาดหายไปคือสิทธิพิเศษของทางการสยามในการเว้นภาษีขาเข้าและออกจากการค้ากับราชสำนักจีนในการค้าแบบบรรณาการ[81] ผลที่ตามมาคือการขาดแคลนเงินสำหรับแลกเปลี่ยนสินค้าที่ต้องการ อาทิ ปืน ทำให้ทางการสยามต้องนำสินค้าประเภท ดีบุก งาช้างและไม้มาแลกอาวุธปืนแทน นอกจากนี้การขาดแคลนเงินและทรัพย์สินจากการค้ายังส่งผลกระทบต่อการพระราชทานเบี้ยหวัด เครื่องยศ การเสริมสร้างพระราชฐานะและพระราชอำนาจ ทำให้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงระมัดระวังการรั่วไหลของเงินทอง อีกทั้งยังทรงลงโทษผู้กระทำการทุจริตอย่างรุนแรง ความระมัดระวังเช่นนี้จึงเป็นการขัดผลประโยชน์อันพึงมีพึงได้ตามปกติของขุนนางอีกทางหนึ่งเช่นกัน

            การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าทางเศรษฐกิจในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินคือ การสละพระราชทรัพย์ซื้อข้าวสารจากพ่อค้าต่างเมืองมาแจกจ่ายราษฎร และการสนับสนุนให้พ่อค้าต่างชาติเช่น ชาวจีน เข้ามาค้าขายในกรุงธนบุรีและทำไร่อ้อย ไร่พริกไทยตามหัวเมืองชายฝั่งตะวันออกและภาคใต้ ทำให้ภาวะขาดแคลนอาหารบรรเทาลง ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาวคือ ในปีพ.ศ.๒๓๑๙ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดฯให้เจ้านายและขุนนางทำนาบริเวณนอกคูเมืองฟากตะวันออกของกรุงธนบุรี กระทุ่มแบน หนองบัวและแขวงเมืองนครชัยศรี รวมทั้งให้ทหาร ราษฎรและเชลยชาวลาวและเขมรทำการเพาะปลูกยามที่เว้นว่างจากราชการสงคราม[82]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น