หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2558

พัฒนาการทางสังคม

พัฒนาการทางสังคม

            ศาสตราจารย์ ชาร์ลส์ ไฮแอม(Charles Higham) และรัชนี ทศรัตน์ เสนอว่า รากฐานอารยธรรมในดินแดนประเทศไทยก่อตัวมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ การติดต่อกับสังคมต่างประเทศเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อารยธรรมดังกล่าวมีความก้าวหน้า แหล่งโบราณคดีขนาดใหญ่สมัยเหล็กในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยเป็นหลักฐานบ่งชี้ว่า สมาชิกของชุมชนมีฐานะมั่งคั่งจากหลักฐานสิ่งของที่ถูกฝังอยู่กับโครงกระดูกในหลุมศพ คนพื้นเมืองเหล่านี้เป็นคู่ค้าของพ่อค้าจากอินเดีย ซึ่งนำสินค้านานาชนิดเข้ามายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชาวอินเดียรู้จักเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในฐานะที่เป็น “แดนทอง(The Land of Gold)” สินค้าที่พ่อค้าอินเดียนำเข้ามาคือ เครื่องประดับจากหินอะเกต เครื่องประดับจากหินคาร์เนเลียนและเครื่องประดับจากแก้ว ส่วนสินค้าที่พ่อค้าอินเดียต้องการนำกลับไป คือ เครื่องเทศ เครื่องมือเครื่องใช้จากโลหะสำริดและทองคำ พ่อค้าอินเดียยังให้โอกาสผู้นำท้องถิ่นในการกว้านซื้อสินค้ามีค่าใหม่ๆ และทำให้ผลผลิตของสินค้าพื้นเมืองมีช่องทางในการระบายออกไปด้วย[2]

            ประมาณพุทธศตวรรษที่๔ (๑๐๐ B.C.) การขยายอิทธิพลลงใต้ของราชวงศ์ฮั่น ทำให้จีนเพิ่มความสนใจต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีนไม่เพียงแต่จะต้องการรวบรวมสินค้าแปลกๆ อาทิ นอแรดและขนนกเท่านั้น หากแต่ยังต้องการขยายจักรวรรดิและอำนาจทางการเมืองของตนด้วย ขณะนั้นอิทธิพลทางการเมืองของจีนแผ่ลงมาถึงภาคเหนือของลาวและเทือกเขาตรวงซอนทางเหนือของแม่น้ำโขง และแม้ว่าอิทธิพลของจีนจะลดน้อยลงในพื้นที่ถัดจากเทือกเขา ซึ่งจีนเรียกว่า “ปราการแห่งอัมพร (Fortress of the Sky)” แต่ความรู้สึกนึกคิดแบบจีนและการค้าขายแลกเปลี่ยนกับจีนก็ยังแทรกซึมผ่านข้ามช่องเขาเข้าไปได้ นักประวัติศาสตร์จีนชื่อปัน จู(Pan Gu) บันทึกเมื่อพุทธศตวรรษที่๔ (๑๐๐ B.C.)ว่า “ขุนนางและพลอาสาถูกส่งออกไปยังทะเล เพื่อนำทองคำและผ้าไหมนานาพรรณไปแลกกับไข่มุกเม็ดงาม ลูกปัดแก้ว และอัญมณี (rare stone)”

            ข้อเสนอที่ระบุว่า การค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับพ่อค้าต่างชาติเป็นปัจจัยที่นำมาสู่การมีอารยธรรมโดยอัตโนมัติยังไม่ใช่ข้อยุติ ก่อนหน้านี้ดินแดนประเทศไทยอาจมีโครงสร้างทางสังคมในระดับที่ละเอียดอ่อน และมีกรอบทางสังคมที่เหมาะสมสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอยู่แล้ว นอกจากนี้การที่ผู้นำพื้นเมืองสนใจจะยกสถานะของตนให้สูงขึ้น ก็เป็นเงื่อนไขสำคัญที่สนับสนุนให้เกิดอารยธรรมเช่นกัน เห็นได้จากการที่ชาวอินเดียนำความเชื่อทางศาสนาพุทธ พราหมณ์ และความเชื่อเรื่องฐานะความเป็นเทพเจ้าของปัจเจกบุคคลเข้ามา ความศรัทธาที่มีต่อพระศิวะจึงอาจส่งผลให้ “เจ้าเหนือหัว” มีฐานะประดุจเทพเจ้า ภาษาสันสกฤตและภาษาบาลีจึงถูกใช้สื่อความหมายสูงส่งที่ยากจะเข้าใจ เพื่อครอบงำความนับถือและความเกรงขามท่ามกลางผู้ไม่รู้หนังสือ และศาสนาสถานที่ก่อสร้างด้วยหินและอิฐซึ่งเริ่มแพร่กระจายทั่วไป เป็นสิ่งบ่งชี้ถึงรูปแบบใหม่แห่งลัทธิการบวงสรวงบูชา ในศาสนาพราหมณ์รูปแบบใหม่ดังกล่าวนี้นำมาสู่การอภิเษกศิวลึงค์ศิลาขนาดใหญ่ เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจรัฐและผู้ปกครองรัฐ และเป็นศูนย์รวมของการประกอบพิธีกรรมที่เข้ามาใหม่และทรงอำนาจ ศิลาจารึกที่สรรเสริญคุณงามความดีของเจ้าเหนือหัวซึ่งมีนามเป็นภาษาสันสกฤต เสียงสวดมนต์ของบรรดานักบวชในวิหารเทพเจ้าเป็นเสมือนเครื่องป้องกันรัฐและผู้นำ โดยมีชาวนาจากฐานล่างสุดของโครงสร้างสังคมรูปปิรามิดเป็นกลไกในการผลิตอาหารและปรนนิบัติเทวาลัยรองรับความเชื่อใหม่ที่เข้ามา[3]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น